“แจ่วฮ้อนกับจิ้มจุ่มหม้อไฟอีสานที่หลายคนคุ้นเคย จะมีความแตกต่างกัน ในเรื่องของกรรมวิธีการทำเครื่องน้ำซุป จิ้มจุ่มจะง่ายเลยทำให้คนต่างถิ่นเข้าถึงได้ไม่ยาก ขณะที่ต้นกำเนิดแจ่วฮ้อนคือ จ.มหาสารคาม และมีร้านโดยตรงกระจายอยู่ทางอีสานมากกว่า”
หนุ่ม-ธนจักร เมืองจันทร์ และปอย-จิราภรณ์ สงครามเจ้าของแบรนด์ “ยกซด” น้ำซุปแจ่วฮ้อนหรือชาบูอีสานพันธุ์ใหม่พร้อมปรุง บอกกับผู้เขียนว่า ด้วยความที่เป็นลูกหลานคนอีสานโดยกำเนิด จ.มหาสารคาม และตัวเองมีพื้นฐานความรู้ทางด้านการทำอาหารเป็น “เชฟ” อยู่เดิม ก่อนหน้านี้จับทำธุรกิจร้านอาหารมานานหลายปี จะออกแบบและสร้างเป็นร้านอาหารขึ้นมาก่อน จากนั้นพอมีคนสนใจซื้อเพื่อเข้ามาดำเนินการต่อก็จะขายธุรกิจนี้ให้ ล่าสุดร้านอาหารที่ทำในกรุงเทพฯ อยู่ย่านสีลมเพิ่งจะขายไปก่อนย้ายมาปักหลักธุรกิจใหม่ อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อ5 ปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนในตอนนั้นก็คือว่าเริ่มเห็นกระแสของ “ชาบู” ความนิยมเมนูหม้อไฟแบบเกาหลีที่กำลังเข้ามา เลยทำให้หวนนึกถึง “แจ่วฮ้อน” ตำรับหม้อไฟอีสานที่บ้านเกิดขึ้นมาได้ น่าลองนำมาทำโดยอิงไปกับกระแสชาบูแต่เพิ่มตัวเลือกใหม่เป็น “น้ำซุป” รสจัดจ้านตามแบบฉบับของอีสานแทนก็น่าจะดี
แจ้งเกิดจากร้านชาบูอีสานพร้อมการพัฒนา “สูตร” เองก่อน
“เรามีความฝันว่าอยากทำ “แจ่วฮ้อน” ให้คนไทยทั่วประเทศรู้จัก ให้ทั่วโลกได้รู้จัก ทีนี้ถามว่าแจ่วฮ้อนมันแตกต่างอย่างไร คือตัวแจ่วฮ้อนมันแตกต่างทั้งรสชาติและก็ตัวtexture คนส่วนใหญ่จะเข้าใจคำว่า “จิ้มจุ่ม” แต่ขณะที่จิ้มจุ่มจะเป็นแค่น้ำซุปต้มกระดูกแล้วก็เอาตัวสมุนไพรที่เป็น ข่า ตะไคร้ พริก ใบมะกรูด ลอยไปในน้ำต้มกระดูก แต่แจ่วฮ้อนจะแตกต่าง คือจะเอาสมุนไพรต่างๆ เช่น ตะไคร้ ข่า พริก หอมแดง กระเทียม ฯลฯ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนำมาบดรวมกันให้ละเอียด ก่อนเข้าสู่กระบวนการต้ม-เคี่ยวซึ่งค่อนข้างจะใช้ระยะเวลานาน จนได้กลิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ”
คุณหนุ่ม บอกด้วยว่า จากความยากและความแตกต่างในกรรมวิธีการทำ ดังนั้นส่วนใหญ่ก็เลยจะเห็นแต่เมนู “จิ้มจุ่ม” ที่มีจำหน่ายอยู่ต่างพื้นที่ซึ่งหากไม่ใช่ภาคอีสานเองแล้ว การมาเริ่มต้นทำร้านแจ่วฮ้อนชาบูอีสานอยู่ในพื้นที่ของภาคกลาง แบบเปิดให้นั่งทานที่ร้าน ยอมรับว่าในช่วงแรก ๆ แอบหวั่นใจอยู่เหมือนกัน คนที่นี่จะกินเป็นมั้ย มันจะขายได้หรือเปล่า ขณะเดียวกัน “สูตร” การทำน้ำซุปแจ่วฮ้อนของร้านก็คือว่า จะเป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่เองโดยทางร้าน มีลูกค้าที่มานั่งทานเป็นคนช่วยร่วมพัฒนาปรับปรุงมาจนกระทั่งทุกอย่างลงตัวดีแล้ว ผ่านการชิมจนสอบผ่านทางด้านรสชาติมาแล้วมากกว่าหลักหมื่นคน ใช้ระยะเวลาอยู่ประมาณปีกว่าและพอปีที่ 2 ก็สามารถต่อยอดสู่ “ผลิตภัณฑ์” นอกเหนือจากการเปิดให้มานั่งทานที่ร้านควบคู่
ต่อยอดสู่ “พริกแกงแจ่วฮ้อน” ออร์เดอส่งห้างฯ ครั้งแรก!
“ในช่วงนั้นเราก็เริ่มจับทางได้แล้วว่า โอเครสชาติมันน่าจะเป็น ประมาณไหนที่ลูกค้าชอบ โดยในปีแรกเราขายอยู่หน้าร้านยังไม่ได้มีการทำแบบบรรจุซอง พอเริ่มปีที่2 เราเริ่มบรรจุซองดูทำอย่างไรตัว “ยกซด” จะทำให้คนรู้จักนอกจากขายเฉพาะหน้าร้าน คนภาคอื่นก็กินของเราได้ด้วย ก็เริ่มการบรรจุใส่ซองแล้วมีการขายออนไลน์ส่งไปต่างประเทศ แล้วก็มีลูกค้าต่างประเทศด้วย ก็จะได้ฟีดแบ็คจากลูกค้าต่างประเทศด้วยในเวลานั้น”
ช่วงที่มีการเปิดขายอยู่หน้าร้านถือว่าได้รับ การตอบรับดีมาก ๆ การสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากซึ่งสำหรับการขายก็คือว่าจะเป็น แบบชุดหรือเซ็ตในราคา 299 บาท รูปแบบการรับประทานก็จะเหมือนกับร้านชาบูหม้อไฟแต่จะต่างกันตรงที่ รสชาติของน้ำซุปซึ่งเป็น “แจ่วฮ้อน” เท่านั้นเอง
“ทีนี้ของเรา เรามองไปข้างหน้าว่าในช่วงนั้นพอผลิตเองหลังร้าน มีการบรรจุซองเอง ก็มีโอกาสได้เข้าไปนำเสนอสินค้ากับทางจัดซื้อของแม็คโคร ซึ่งเขาก็สนใจและให้เราพัฒนาเป็นตัว “พริกแกง” แจ่วฮ้อนเพื่อส่งให้เขา เพราะตอนนั้นคือยังไม่มีใครทำเลย เขาก็มองเห็นว่าด้วยมันน่าจะมาแล้ว ไอ้ชาบูตัวนี้มาแน่นอน แล้วตอนนั้นแจ่วฮ้อนก็ยังไม่มีใครทำด้วย เขาก็เลยให้โจทย์เรามาว่าไปทำตัวนี้สิ”
ในตอนแรกคิดหนักเหมือนกันจะทำยังไง ให้มันออกมาเป็นลักษณะของ “พริกแกง” ใช้เวลาในการพัฒนาสูตรอยู่สักพัก จนได้ตัวอย่างออกมาก็นำไปให้กับทางห้างลองเทสต์ดู สรุปว่าผ่าน จากนั้นก็เริ่มผลิตเพื่อส่งให้ในล็อตแรก ด้วยความที่มีปริมาณมากเพราะเขาต้องการนำไปกระจายเพื่อทดสอบการขายของสินค้าให้ครบทุกสาขา ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ก็เลยกลัวว่าทำเองจะได้ไม่เพียงพอต่อปริมาณของการส่งดังนั้นจึงมีการ ว่าจ้างโรงงาน OEM เข้ามาช่วยทำการผลิตให้ก่อน ซึ่งปรากฏจากยอดจำหน่ายได้ในรอบแรก 8 แสนกว่าบาท แต่พบว่าต้นทุนการผลิตสูงมาก ทำให้มีความพยายามที่จะผลิตส่งเองให้ได้ในรอบต่อมาเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในที่สุดก็กลับมาใช้พื้นที่ซึ่งอยู่ด้านหลังของตัวร้านฯ สร้างเป็นห้องผลิตมีการปรับปรุงโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของการเป็นแหล่งผลิตอาหารตามเกณฑ์ของการควบคุมที่กำหนดให้ และพอมีโรงงาน(เล็ก ๆ) ของตัวเองก็ทำให้สามารถผลิตตามสูตรที่พัฒนาขึ้น การกำหนดส่วนผสม วัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำ ตรงตามคุณภาพที่ตั้งใจอยากจะได้แจ่วฮ้อนเป็นแบบไหนมากกว่าด้วย
เอาใจสายชาบูหม้อไฟด้วย “ซุปก้อนและน้ำซุปสูตรเข้มข้น” พร้อมปรุง!
“เริ่มมียอดขายที่มันเพิ่มขึ้น และฟีดแบ็คจากลูกค้าก็เริ่มเห็น ในล็อตแรกที่เราขายไปตอนนั้นยังไม่เห็นฟีดแบ็คจากลูกค้าเลยนะ แต่เห็นยอดขาย ไม่เห็นลูกค้าฟีดแบ็คมาว่าอร่อยหรือไม่อร่อยอย่างไรบ้าง แต่พอล็อตที่ 2 เราเริ่มเห็นแล้วว่ามันมีฟีดแบ็คจากลูกค้านะ ลูกค้าเริ่มชมแล้วนะ เริ่มเอาไปใช้แล้วนะ นี่คือสิ่งที่มันต่างกันเราก็เลยเริ่มที่จะผลิตเอง”
หลังจากที่เข้าแม็คโครได้ในช่วงปีที่ 2 ย่างปีที่3 แล้ว ก็มองต่อไปอีกว่าการที่จะทำให้ “ยกซด” แจ่วฮ้อนไปให้คนทั่วประเทศได้รู้จักหรือคนต่างประเทศได้รู้จัก การที่จะทำเป็นร้านอาหารขยายสาขา ที่1 ที่2 ที่3 ต่อไปเรื่อย ๆ น่าจะยากกว่า เพราะว่าด้วยการต้องสร้างร้าน แรงงาน และก็ทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นก็เลยต้องมีการแพลนใหม่เพื่อเปลี่ยนโมเดลของธุรกิจเป็นลักษณะของการทำ “น้ำซุปกึ่งสำเร็จรูป” มันน่าจะไปได้เร็วใช้ทุนน้อยกว่า
“ในช่วงที่เราจะมีแพลนว่า เราอยากเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายก็พยายามหาความรู้ ว่าจะไปยังไงดี เริ่มมาตกผลึกในช่วงที่เข้าประกวดโครงการเซเว่นอินโนเวชันอวอร์ด แล้วเราได้รางวัล Inventor อวอร์ด เป็นรางวัลใหญ่ครับ ทีนี้ในช่วงที่เราไปพิชชิ่งเราก็ได้ความเห็นจากกรรมการหลายท่าน ก็มีความคิดเห็นหนึ่งที่ทางกรรมการบอกว่า ให้ทำแจ่วฮ้อนในรูปแบบก้อนสิ! อันนี้เป็นความคิดที่ตอนแรกเราก็ยังไม่เชื่อหรอก เราก็เก็บสิ่งนี้ไว้อยู่กับเรา อยู่นานพอสมควร กระทั่งพอเรามีการลงไปคลุกคลีกับลูกค้ามากขึ้นจนตกผลึกแล้วว่าโอเค จากพริกแกงเนี่ยเราก็เลยแตกเซคชันออกมาอีกเป็น 3 แบบ ซุปก้อน น้ำซุปเข้มข้น และน้ำซุปเข้มข้นพร้อมน้ำจิ้ม ด้วย”
อยู่ที่ไหนก็อร่อยได้ง่าย ๆ
เจ้าของแบรนด์ “ยกซด” แจ่วฮ้อนในรูปแบบของน้ำซุปกึ่งสำเร็จรูป บอกด้วยว่า แต่กว่าที่จะเปลี่ยนผ่านมาสู่ธุรกิจใหม่นี้ได้ก็ค่อนข้างรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาพอสมควรเลย ใช้เวลาในการตั้งหลักเพื่อเริ่ม Run ธุรกิจใหม่อีกครั้งนานกว่า 1 ปี จนสามารถกลับมาผลิตในรูปแบบโรงงานที่เป็นของตนเองเพื่อส่งห้างฯ ตามปกติได้ รวมทั้งเริ่มมีการแตกไลน์ของสินค้าใหม่ที่ผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย
“แจ่วฮ้อนยกซดของเราตอนนี้จะมีอยู่ 4 รูปแบบครับ ก็คือ มีพริกแกงแจ่วฮ้อน น้ำหนัก 300 กรัมราคา 69 บาท ตัวนี้จะเป็นสำหรับกลุ่มของร้านอาหาร จิ้มจุ่ม ชาบู หมูกระทะ ที่ลูกค้าจะเอาไปใช้ แบบนี้ก็จะประหยัดกว่า ตัวแจ่วฮ้อนซุปก้อน อันนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้า แม่บ้านหรือว่ากินทีละคนสองคน ราคา 24 บาท แล้วก็จะมีตัวน้ำซุปแจ่วฮ้อนเข้มข้น ราคา 35 บาท สำหรับกิน 4 คน และก็จะมีตัวน้ำซุปพร้อมน้ำจิ้ม อันนี้ก็จะมีน้ำจิ้มพร้อมอยู่ในถุง ราคาเพียง 55 บาท”
ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้สินค้าไปสู่การรู้จักของผู้คนได้มากขึ้น และความง่ายในการเข้าถึงได้ของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น แจ่วฮ้อนซุปก้อน ที่สามารถปรุงเพื่อรับประทานเมนูหม้อไฟกันได้ง่าย ๆ เพียงต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่ซุปก้อนเติมลงไปช่วยเพิ่มรสชาติจัดจ้านหอมเครื่องแกงสมุนไพรไทย ๆ ตามแบบฉบับของ “แจ่วฮ้อน”จากอีสาน โดยน้ำ 500 มล.(ครึ่งลิตร) ต่อซุปก้อน2 ก้อน ใส่ลงไปเพียงเท่านี้สำหรับการรับประทาน 1-2 คน/ครั้ง จะได้รสชาติ(น้ำซุป) เจ้าของบอกว่าไม่ต่างจากไปนั่งทานที่ร้านเลย อยู่ที่ไหนหรือใครทำก็อร่อยเหมือนกันแบบง่าย ๆ ได้เลย
“ตัวซุปก้อนของเรา จะทำแตกต่างไปจากของLeader ที่มีอยู่ในตลาด โดยที่เวลาลูกค้าใช้ของเราเนี่ย ลูกค้ายังสัมผัสได้ถึงเนื้อสัมผัสของตะไคร้ ข่า พริก ที่อยู่ในน้ำซุปเหมือนสินค้าตัวอื่นของเราเลย”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ “ยกซด” แจ่วฮ้อนมีการวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ช้อปปี้ ลาซาด้า รวมทั้งการผลิตเพื่อส่งขายกับทางห้างค้าปลีก-ส่ง รายใหญ่อย่างแม็คโครด้วยที่ถือว่าเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีออร์เดอพริกแกงแจ่วฮ้อนจากทางห้างฯ ที่ต้องผลิตป้อนส่งให้ตลอด และไม่เกินสิ้นปีนี้ยังมีการสั่งเพิ่ม SKU สินค้าที่วางจำหน่ายของยกซดให้ครบทั้งหมดที่มีผลิตอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีช่องทางการจำหน่ายใหม่ที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีก (ที่ยกเว้นพริกแกง) สินค้ามีวางจำหน่ายในLotus ด้วยเพิ่งเริ่มเข้าไปได้กว่า 2 เดือนมานี้ และเร็ว ๆ นี้เตรียมเข้าไปวางจำหน่ายในBig C เพิ่มอีกแห่ง ซึ่งเบื้องต้นจะวางเป็นตัวของน้ำซุปพร้อมน้ำจิ้ม เพียง1 SKU ก่อนที่บิ๊กซี รวมถึงยังมีดิวกับอีกหลาย ๆ ที่ในรูปแบบของร้านสะดวกซื้อที่ต้องการจะนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายด้วย และตอนนี้ยกซดเองได้มีการส่งออกไปในหลายประเทศแล้วพร้อมมีการจับมือร่วมกับ Distributor เจ้าใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดัง ๆ ของไทยที่ส่งออกแล้วเข้ามาช่วยกระจายสินค้าเพื่อไปออกสู่ตลาดโลกที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้นไปอีกในเร็ว ๆ นี้ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือต้องการเปิดรับPartner ที่มาร่วมลงทุนสำหรับการผลิตเพื่อให้สามารถรองรับกับตลาดตอนนี้ที่เปิดกว้างให้แล้วด้วย
“ยกซด เป็นคำทางภาษาอีสานด้วยที่สื่อถึงความอร่อย แจ่วฮ้อนมันเป็นอะไรที่แบบเป็นแซบ ๆ และตรงกับคนไทย เราก็เลยพยายามที่จะคิดคำในการสื่อสารให้ตรง ตรงไปถึงหัวใจของผู้บริโภคได้ที่แบบว่าพูดคำนี้ ลูกค้านึกออกเลยว่าต้องนึกถึงเรา”
ในช่วงหน้าหนาวของอีสาน เวลาหนาวคือว่าหนาวจริง ๆ เขาก็เลยมีวัฒนธรรมการกินประมาณว่าช่วงหน้าหนาว มันต้องหาอะไรที่แบบทำให้ร่างกายอบอุ่น แล้วอีกอย่างในช่วงหน้าหนาวคนจะเป็นหวัดกันเยอะ พอทำให้ร่างกายอบอุ่นแล้วเขาก็เริ่มที่จะคิดเอาสมุนไพรไทยต่าง ๆ ที่มีมาช่วยในการแก้อาการหวัดด้วย ก็เลยเป็นที่มาของการพัฒนาหลังจากที่เป็นน้ำซุปทำให้ร่างกายอบอุ่นแล้ว ก็มีสมุนไพรบรรเทาอาการหวัด เกิดเป็นเมนู “แจ่วฮ้อน” ขึ้นมา
สอบถามเพิ่มเติมโทร.094-794-6289
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด