ศบค.พบผู้ติดเชื้อใหม่ 836 ราย ลุยตรวจเชิงรุกพื้นที่ไข่แดงสมุทรสาครต่อเนื่อง คาดตัวเลขจะเบาบางลง ห่วงเคส “โต๊ะแชร์มหาสารคาม” ลาม 3 จังหวัดติดเชื้อแล้ว 18 ราย มีเด็กหญิงวัย 4 เดือนด้วย ไล่ตรวจผู้สัมผัสรวม 110 ราย ย้ำยังต้องตั้งการ์ด 100% แม้คลายล็อก ตร.ขอความเห็น จนท.อนามัย กทม.ก่อนเอาผิดก๊วนดีเจมะตูม “ผวจ.สมุทรสาคร” ยิ้มหลังเจอหน้าภรรยา
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการพบผู้ติดเชื้อคนแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.63 และยังเป็นวันแรกของมาตรการผ่อนคลายของ ศบค.ด้วย ทั้งนี้เราผ่านระยะที่ 1 ของแผนการผ่อนคลายเมื่อวันที่ 25-31 ม.ค. ซึ่งมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ในสัปดาห์นี้ 1-7 ก.พ.จะยังคงเห็นมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้น แต่คาดหวังว่าตัวเลขที่รายงานในแต่ละวันจะเบาบางลง และถ้าเรายังร่วมมือกันได้อย่างต่อเนื่องอย่างนี้ วันที่ 8-15 ก.พ.เราคงจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 836 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 39 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 793 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 19,618 ราย ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 7,027 ราย ยอดหายป่วยสะสม 12,514 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 77 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในส่วนการติดเชื้อภายในประเทศจังหวัดสมุทรสาคร จากการคัดกรองเชิงรุกมีคำถามมากมาย ทำไมตัวเลขการคัดกรองสูงขึ้น 700-800 ราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้บอกว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ คือคัดกรอง 100 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 7 ราย แต่อยากให้เห็นภาพแผนที่สมุทรสาครทั้งหมดทุกพื้นที่ไม่ได้เป็น 7 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด บางพื้นที่อาจจะไม่เจอผู้ติดเชื้อเลย บางพื้นที่แม้จะมีโรงงาน ตลาด ชุมชน ตัวเลขอาจจะเจอ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงของสัปดาห์ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่เชิงรุกในพื้นที่ไข่แดงหรือสีแดงเลือดหมู ใน ต.ท่าทรายและคลองมะเดื่อ ซึ่งมีการคัดกรองโรงงานหลายโรงที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 ราย มีการรายงานผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองที่อาจจะมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารวมทั้งจังหวัดตัวเลขยังไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ และในสัปดาห์นี้จะยังมีการคัดกรองต่อ แต่ตัวเลขคงจะเบาบางลง
ในส่วนของกรุงเทพฯ มีการตรวจเช่นกัน ในเขตที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อ เขตภาษีเจริญ, บางบอน, บางขุนเทียน, หนองแขม, บางแค และจอมทอง พื้นที่เหล่านี้มีโรงงานจึงได้มีการเข้าไปสำรวจและตรวจ เช่น เขตภาษีเจริญ ตรวจไป 1,232 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 25 ราย บางขุนเทียน 3,211 ราย พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย เป็นต้น โดยรวมๆ ตรวจแล้ว 10,023 ราย จาก 59 โรงงาน พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย ถือเป็นตัวเลขที่อยู่ในการประมาณการและควบคุมได้ ส่วนตัวเลขของจังหวัดสมุทรสาครวันเดียวกันนี้ 814 ราย กรุงเทพฯ 10 ราย
ห่วงเคสโต๊ะแชร์พุ่ง
แต่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ราชบุรี 2 ราย มี 1 รายมาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์จังหวัดมหาสารคาม โดยมหาสารคามพบผู้ติดเชื้ออีก 6 ราย ยังเป็นกลุ่มเดียวที่มาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ ทั้งนี้มีตัวเลขยืนยันแล้วสำหรับผู้มาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์เดียวกันรวม 18 ราย ซึ่งหลายคนกังวลเป็นกลุ่มที่มีซูเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งการจัดงานเลี้ยงลักษณะนี้จะมีการดื่มสุรา การรับประทานอาหารไม่มีการสวมแมสก์ ช่วงเวลาที่มีการสัมผัสในสถานที่ปิดเกิน 15 นาทีแน่นอน อาจจะมีการพูดคุยเสียงดัง ไอจามรดกัน นอกจากนี้กลุ่มผู้ติดเชื้อไม่ได้ลงทะเบียนหมอชนะ ไม่มีการสแกนไทยชนะ เลยทำให้การสอบสวนโรคยากลำบาก
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า คำถามที่ว่ามีการผ่อนคลายแล้วทำไมร้านอาหารยังจำกัดเวลา เพราะตัวเลขในลักษณะนี้เรานำมาวิเคราะห์และเรียนรู้ และอยากให้ผู้ประกอบการช่วยเสนอมาตรการได้หรือไม่ จะมีการกำกับดูแลลูกค้าที่ใช้บริการอย่างไรเพื่อนำเสนอเข้ามา ศบค.จะพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ มาตรการทางสังคมดำเนินชีวิตต่อได้ ภายใต้เงื่อนไขการระบาดยังสามารถควบคุมได้ด้วย และขอฝากทุกท่านควบคุมตามมาตรการที่ออกมาให้ถี่ถ้วน ต้องขอความร่วมมือตลาด ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการทั้งหลายกำหนดมาตรการสูงสุด โดยขอให้มีการเข้มงวดกันทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมประเทศไทย รายงานจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมี 12 จังหวัด ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดที่ยังไม่เคยมีผู้ติดเชื้อยังรักษาตัวเลขได้ที่ 14 จังหวัด และจังหวัดสีเขียวไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 7 วันแล้วยังอยู่ที่ 42 จังหวัด สีเหลืองบวกเพิ่มอีก 3 จังหวัด และจังหวัดไข่แดงมีผู้ติดเชื้อลดลงไป 3 จังหวัด
เมื่อถามถึงกรณีที่การเปิดเรียนของเด็กและเยาวชนในช่วงนี้ ยังมีผู้ปกครองบางส่วนมีความห่วงใย เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงอยู่ แล้วการเปิดเทอมครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองได้อย่างไรบ้าง พญ.อภิสมัยกล่าวว่า เรื่องการเรียนการสอนในช่วงนี้ยังจะมีเพิ่มในเรื่องของการสอบด้วย และในช่วงเดือนมีนาคมจะต้องมีการสอบเข้าโรงเรียน หรือแม้แต่สถานศึกษาบางส่วนจะมีการจัดอบรม จึงเกิดคำถามและเกิดความกังวลที่หลากหลายของผู้ปกครอง นโยบายสำคัญที่ ศบค.เน้นย้ำคือ เรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน โดยให้เป็นนโยบายว่าทำได้หรือไม่ หากจะมีส่วนหนึ่งมาเรียนในสถานที่โรงเรียนหรือสถานอุดมศึกษา และขณะเดียวกันจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์คู่ขนาน แต่ยังมีผู้ปกครองมีความกังวลอีกว่า การที่ลูกหลานไปเรียนจะเกิดความเสี่ยงในการสัมผัสที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้ และยังเสี่ยงเนื่องจากจะต้องเดินทางขนส่งสาธารณะ ทั้งบีทีเอส รถเมล์ เรือ ซึ่งความชัดเจนนั้นจะต้องติดตามการรายงานของ ศบค.และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในพื้นที่ต่างๆ ตลอดสัปดาห์นี้
“ขอฝากประชาชนทุกคนว่า จากวันนี้เป็นต้นไปมาตรการผ่อนคลายเริ่มต้นแล้ว แต่มาตรการควบคุมโรคเรายังต้องการ์ดสูง 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย โดยงดการทำกิจกรรมร่วมกัน ในสถานที่ทำงานขอให้งดการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงนี้ยังต้องขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ เหมือนคลัสเตอร์ที่เราเห็นเช่นจังหวัดมหาสารคาม หรือในหลายจุดที่ กทม.ที่เราได้เห็นข่าวกันไปแล้ว ช่วงนี้งานเลี้ยงและกิจกรรมการรวมกลุ่มที่จะต้องมีคนมารวมตัวกันมากๆ ขอความร่วมมืองดเว้นไปก่อน แต่หากมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเดินทางไปทำงาน การอบรมศึกษาใดๆ ขอให้กักตัวตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด” พญ.อภิสมัยกล่าวและว่า หากมีการผ่อนคลายมาตรการแล้ว แต่พวกเราทุกคนไม่ร่วมมือกัน เกิดตัวเลขที่สูงขึ้น เกิดสถานการณ์คลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ศบค.อาจจะต้องพิจารณาปรับลดมาตรการขึ้นหรือลงตามสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีตัวเลขเป็นหลักฐาน
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงถึงคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ จ.มหาสารคามว่า เริ่มต้นจากชายไทยอายุ 46 ปี เดินทางมา กทม.วันที่ 29 ธ.ค.63 เดินทางกลับวันที่ 3 ม.ค.64 แวะรับประทานอาหารกับมารดาและญาติที่ จ.นครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย จากนั้นเดินทางกลับ จ.มหาสารคาม เริ่มมีไข้วันที่ 10 ม.ค.64 ระหว่างนี้ไปงานเลี้ยงหลายงาน ทำให้มีผู้สัมผัสรวม 110 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 ราย และเสี่ยงต่ำ 32 ราย ทำให้ขณะนี้พบการติดเชื้อรวม 18 ราย แบ่งเป็นที่ จ.มหาสารคาม 16 ราย เป็นการติดในครอบครัวและผู้ร่วมงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ 10 ราย และมีผู้สัมผัสที่รับเชื้อนำไปแพร่ให้คนในครอบครัวตัวเองอีกทอดรวม 6 ราย ส่วน จ.ราชบุรีพบติดเชื้อ 1 ราย เป็นเด็กหญิงอายุ 4 เดือน และขอนแก่น 1 ราย ซึ่งการติดเชื้อเชื่อมโยงจากผู้ที่ร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว ทั้งนี้แม้มีมาตรการผ่อนคลายในหลายจังหวัด งานเลี้ยงต่างๆ ก็ควรงดไปก่อน ซึ่งการดื่มอาจทำให้พฤติกรรมการป้องกันตนเองย่อหย่อนไป จึงขอให้หลีกเลี่ยงรอให้สถานการณ์คลี่คลายมากกว่านี้
จ่อฟันก๊วนดีเจมะตูม
ขณะที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีการจัดงานปาร์ตี้วันเกิดของ “ดีเจมะตูม” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านสาทรและมีผู้มาร่วมงานจำนวนมากว่า ขณะนี้ตำรวจยังรวบรวมพยานหลักฐาน และได้ทำหนังสือเชิญเจ้าพนักงาน สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร มาให้ความเห็น ถึงกรณีจัดงานเลี้ยงที่โรงแรมดังกล่าว ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครหรือไม่
เบื้องต้นร้านอาหารบนโรงแรมดาดฟ้า ย่านสาทร ที่เกิดเหตุ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตารางเมตร มีผู้มาใช้บริการในวันนั้นทั้งหมด 65 คน โดยกลุ่มของนายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม มีทั้งหมด 14 คน ซึ่งโรงแรมมีมาตรการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิและเว้นระยะห่างตามข้อกำหนด แต่หลังจากเวลา 21.00 น. ร้านอาหารได้ปิดให้บริการ ต่อมากลุ่มของดีเจมะตูมได้เปิดห้องพักซึ่งเป็นห้องสูท 3 ห้อง พื้นที่ใช้สอยรวม 351 ตารางเมตร พบว่ามีคนมาร่วมงาน 14 คน และมีการเปิดเข้าออกห้องรวม 26 ครั้ง ทำให้ต้องขอความเห็นจากเจ้าพนักงานสำนักอนามัยก่อนว่าจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่
นอกจากนั้นยังพบหลักฐานการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องพัก และมีหลักฐานการชำระเงิน ทำให้ต้องสอบสวนต่อไปว่าโรงแรมจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กลุ่มผู้ใช้บริการได้อย่างไร สำหรับตำรวจกำลังพิจารณาในความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากพบความผิดจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องเชิญดีเจมะตูมมาให้ปากคำหลังจากรักษาอาการป่วยโรคโควิด-19 ในส่วนของพนักงานในร้านอาหารมีอยู่ 34 คน ขณะนี้ผลตรวจโควิด-19 ไม่พบมีผู้ติดเชื้อ แต่ยังให้กักตัวสังเกตอาการอยู่
วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ความก้าวหน้าอาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ย้ายออกจากห้องความดันลบ ไปอยู่ในห้องไอซียูโรคระบบทางเดินหายใจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปไม่ได้มีการให้เข้าเยี่ยม แต่วันนี้ได้ยกเว้นให้ภรรยาผู้ว่าฯ เข้าเยี่ยมเพื่อประเมินอาการทางสมอง เพราะผู้ว่าฯ ได้ทานยาที่ลดการรู้ตัวไปพอสมควร แต่เมื่อได้มีการถอนยาบางส่วนทำให้มีการตื่นขึ้นบ้าง ปรากฏว่าเมื่อได้เห็นหน้าภรรยา เราก็ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ว่าฯ เป็นครั้งแรกและมีการหายใจเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นความดีใจหรือความกังวลอะไรก็ตาม แต่พอภรรยาบอกให้หายใจช้าลง ผู้ว่าฯ ก็ทำตาม แสดงว่ามีการสื่อสารกันได้ดี ซึ่งผู้ว่าฯ ยังไม่สามารถพูดเองได้ในตอนนี้ หวังว่าทั้งหมดนี้จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ
ในส่วนอาการหากไม่มีไข้ การติดเชื้อต่างๆ ถือว่าควบคุมได้ดี รวมถึงการทำงานของปอดกลับมาดีขึ้นมาก โดยอาศัย 2 ตัวชี้วัด คือ 1.การเอกซเรย์ปอด จากเดิมที่ปอดมีการอักเสบ ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 2.ผลการตรวจระดับแก๊สต่างๆ ในกระแสเลือด ทั้งออกซิเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าเดิม และสามารถลดปริมาณออกซิเจนลง แต่ในกระแสเลือดยังได้ออกซิเจนที่สูง แสดงให้เห็นว่าปอดทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ส่วนในการทำงานของระบบทางเดินอาหารสามารถให้อาหารได้เต็มที่ เพื่อให้สารอาหารได้กระตุ้นการทำงานลำไส้ และเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ แม้ว่าบางส่วนจะให้ทางเส้นเลือด และผลการตรวจเลือดต่างๆ ที่ออกมาใกล้เคียงปกติเกือบทุกตัว
“ได้เริ่มปรับเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ว่าฯ ได้ค่อยๆ เริ่มหายใจด้วยตัวเองมากขึ้น แต่ก็ยังไม่อยากระบุว่าอาการทุกอย่างดี 100% เพราะจะต้องมีการถอยเครื่องช่วยหายใจ จนกระทั่งผู้ว่าฯ หายใจด้วยตัวเองได้ และหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจใดๆ ซึ่งในขณะนี้ถือว่าการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ระบุ.