หนึ่งในวาระสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันพฤหัสบดีนี้ (29 เม.ย.) คือการพิจารณายกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 หลังเชื้อแพร่กระจายไปทั้ง 77 จังหวัด และไม่อาจกดยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ที่ทะลุหลักพันต่อเนื่องกว่า 14 วัน
มีความเป็นไปได้สูงว่ากรุงเทพมหานครและอีก 5 จังหวัดจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมและเข้มงวดขึ้น หากที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับสี ตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.)
“ตอนมีอยู่ 6 จังหวัดที่มีสีเข้มอยู่ แต่จะล็อกดาวน์หรือไม่ ทาง ศบค. มีการประชุมกันอยู่ ก็ขอให้ประชาชนรอดูผลสรุปกันต่อไป” พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษก ศบค. กล่าวเมื่อ 26 เม.ย.
นพ. เฉวตสรร นามวาท รักษาการ ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค สธ. ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. พบการกระจุกตัวอยู่ใน 6 จังหวัด ฉะนั้น “มาตรการใน 6 จังหวัดนี้ก็ต้องมีมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ”
สำหรับจังหวัดที่จ่อยกระดับเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยสะสมในการระบาดระลอกสาม (1-27 เม.ย.) พบผู้ป่วยสะสม 10,069 ราย, เชียงใหม่ พบผู้ป่วยสะสม 3,292 ราย, ชลบุรี 2,043 ราย, นนทบุรี พบผู้ป่วยสะสม 1,395 ราย, สมุทรปราการ พบผู้ป่วยสะสม 1,269 ราย และปทุมธานี พบผู้ป่วยสะสม 604 ราย
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 16 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พะเยา นครพนม ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน พังงา สตูล น่าน ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ส่วนที่เหลืออีก 55 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)
เกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่งัด “ยาแรง” ขึ้นมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยปล่อยให้เป็นอำนาจของแต่ละจังหวัดในการออกประกาศ/คำสั่ง เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ
แต่ละจังหวัดมีมาตรการสำคัญอะไรบ้าง นอกเหนือจากการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง และการสั่งงดชุมนุม/รวมกลุ่มกัน บีบีซีไทยรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้
ต้องสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่นอกบ้าน
แม้ภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า มาอย่างต่อเนื่องนับจากประเทศไทยเริ่มรู้จักกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เมื่อปี 2563 แต่ผ่านมาถึงปัจจุบัน กลับยังมีประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ จนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ต้องพร้อมใจการออก “คำสั่ง” ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรือไปสถานที่สาธารณะ
หากใครฝ่าฝืน ถือเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 6,000-20,000 บาท โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ถูกเปรียบเทียบปรับ 6,000 บาทเป็นรายแรก หลังร่วมประชุมภายในทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 26 เม.ย. แล้วไม่ใส่หน้ากากอนามัยเพียงคนเดียว ผู้ว่าราชการ กทม. จึงเป็นผู้กล่าวหา โดยนำไปสู่การจ่ายค่าปรับของผู้นำประเทศเป็นกรณีตัวอย่าง
บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ณ วันที่ 25 เม.ย. และประกาศของจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติม 27 เม.ย. พบว่า มาตรการควบคุมป้องกันโรคนี้บังคับใช้ในอย่างน้อย 49 จังหวัด
- ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน พิษณุโลก
- ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล สงขลา ยะลา
- ภาคกลางและภาคตะวันออก 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (เฉพาะตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ) ปราจีนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี อยุธยา สมุทรสาคร ลพบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี สระบุรี ตราด นนทบุรี นครปฐม จันทบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร หนองคาย อุบลราชธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี เลย อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา
ต้องกักตัวหากเดินทางข้ามเขตจังหวัด
อีกมาตรการที่แต่ละจังหวัดงัดขึ้นมาใช้ สกัดกั้นการเดินทางข้ามเขตจังหวัดของประชาชน เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเชื้อไวรัสโดยมีมนุษย์เป็นพาหนะไป หนีไม่พ้น การออกคำสั่ง/ประกาศให้มีการกักตัวผู้ที่เดินทางจากนอกพื้นที่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์”
ข้อมูลจาก ศบค.มท. ณ วันที่ 21 เม.ย. พบว่า มาตรการนี้บังคับใช้ในอย่างน้อย 46 จังหวัด
- ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ลำปาง สุโขทัย
- ก่อนหน้านี้มีกำแพงเพชรด้วย แต่ทางจังหวัดได้ยกเลิกคำสั่งในเวลาต่อมา
- ภาคใต้ 12 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี
- ภาคกลางและภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี สิงห์บุรี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี
ขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถานตอนดึก
ขณะที่การงดออกนอกเคหสถาน ยังเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” ไม่ใช่การ “บังคับ” รายละเอียดที่ปรากฏตามประกาศ/คำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดจึงเป็นมาตรการ “กึ่งเคอร์ฟิว” และไม่มีบทลงโทษใด ๆ
ล่าสุด ณ 27 เม.ย. มีอย่างน้อย 5 จังหวัดที่ชิงขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถาน/ที่พัก ในช่วงกลาางคืนถึงรุ่งสาง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
- เริ่มตั้งแต่ 24 เม.ย. – นนทบุรี (21.00-04.00 น.)
- เริ่มตั้งแต่ 25 เม.ย. – สุราษฎร์ธานี (21.00-04.00 น.)
- เริ่มตั้งแต่ 26 เม.ย. – สมุทรปราการ (21.00-04.00 น.)
- เริ่มตั้งแต่ 26 เม.ย. -ปทุมธานี (21.00-04.00 น.) และสมุทรสาคร (23.00-04.00 น.)