ทีมข่าวคิดลึก
23 มีนาคม 2564 00:10 น.
ประเด็นลึก
เอฟเฟกซ์จากปฏิบัติการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อคืนวันที่ 17 มี.ค.64ที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และโจมตีอย่างหนักโทษฐานว่าไม่จริงใจ หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง โปรดอย่าละสายตาไปจากพรรคเพื่อไทยที่พบว่า มี “26ส.ส.” ที่พากันโหวตสวนมติของพรรค ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย ด้วยการไม่โหวต ”
เห็นชอบ”ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ในความเป็นจริงแล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะรู้ดีว่า ต่อให้การลงมติของทั้ง 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาในทิศทางเดียวกันก็ไม่มีทาง “เอาชนะ” ฝ่ายรัฐบาลที่ผนึกกำลังกับส.ว.ได้อยู่ดีก็ตาม
ทว่าในความพ่ายแพ้ของพรรคฝ่ายค้านในเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะเป็นการเปิดช่องให้เกิด “งูเห่า” มากถึง26 ส.ส.เช่นนี้ 26 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย คือเงื่อนปมที่กำลังถูกคนในพรรคเดียวกันตั้งคำถามว่า อาจจะเกี่ยวกับข่าวลือ
เรื่องการแยกตัวไปอยู่กับพรรคการเมือง ที่จะตั้งขึ้นใหม่ด้วยหรือไม่ เพราะหากเป็นจริงก็เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยกำลังเจอกับปฏิบัติการ “ตกปลาจากบ่อเพื่อน” ปัญหาความความขัดแย้ง จนเกิดเป็น “รอยร้าว” ขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยไม่ใช่
เพิ่งเริ่ม หากแต่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง รบราฟาดฟันกันตั้งแต่ระดับ “คีย์แมน” จนถึงลูกพรรคด้วยกันเอง นับตั้งแต่เกมซักฟอกรัฐบาล ด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯ+5รัฐมนตรี” ก็เกิดอาการปีนเกลียวกันระหว่าง “ทีมคณะทำงาน” ที่อยู่กันคนละขั้ว โดยที่ต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนมีรายงานว่า “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ซึ่งถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับ ” กลุ่มกทม.”ของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคสร้างไทย จึงถูกกลุ่มของ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม สกัดให้ห่างจากข้อมูล อีกทั้งยังลดบทบาทของสุทิน เพราะถูกมองว่ามีความโดดเด่นมากกว่า “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างไรก็ดี แม้ในระยะหลัง ๆ “ทักษิณ ชิน วัตร” อดีตนายกฯ จะออกมาแสดงตัวตนผ่านสื่อในโลกโซเชียล อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดคลับเฮ้าส์ ในนาม “Tony” แสดงความคิดเห็นทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.
กลาโหม ถูกเปรียบเทียบ ในแง่การมีวิสัยทัศน์ ก็ตาม แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นความเคลื่อนไหวจาก คนในพรรคเพื่อไทยเอง ที่กำลังมอง “ที่หมายใหม่” ที่จะทำให้ได้มีโอกาสเติบโตในทางการเมืองมากกว่าการอยู่ในพรรคเพื่อไทย ในท่ามกลางความขัดแย้ง และที่หนักหนาไปกว่านั้นคือการเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” ชนิดที่ต้องบอกว่า “ตีตั๋วยาว” มีรายงานว่าการตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยคนของพรรคเพื่อไทย จะเริ่มทยอยเปิดตัวออกมาเป็นระยะๆเพื่อเตรียมตัวลงสู่สนาม เลือกตั้งในปี 2566 แต่ที่น่าสนใจ และจับตาคือในส่วนของพรรคสร้างไทย ที่มีแกนนำหลักคือ คุณหญิงสุดารัตน์ คือพรรคใหม่ที่จะมีส.ส.เบอร์ต้นๆ ของพรรคเพื่อไทย เตรียมขยับเข้าไปร่วมงานทางการเมือง โดยเฉพาะส.ส.ที่มีความสนิท สนมกับคุณหญิงสุดารัตน์ มาก่อนหน้านี้ที่ยังอยู่ในพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการรอจังหวะและเวลา ที่เหมาะสม ที่สำคัญไปกว่านั้นยังต้องคำนึงด้วยว่าหากย้ายพรรคใหม่ แล้วมีกฎหมายรองรับให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ถูกต้องหรือไม่
สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ในภาวะเช่นนี้ต้องยอมรับว่า ต่างดำรงอยู่ด้วยกันในลักษณะที่ว่าหลากความคิด หลายเหตุผล แต่ที่แน่ๆเมื่อใดที่มีการให้ไฟเขียวย้ายพรรคกันได้เมื่อใด จะได้เห็นกันว่าแท้จริงแล้ว “มนต์” ของทักษิณ นั้นยังขลัง รั้งลูกพรรคเอาไว้ได้แค่ไหน ?