เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เยาวชน 4 ภาคร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์ หวังดึงพลังเด็กและเยาวชนสร้างสื่อ สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคม และพัฒนาเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่นและชุมชน ด้วยต้นแบบหลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมทีเคพาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กทม. โครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่น และชุมชนด้วยต้นแบบ หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะขึ้น เพื่อพัฒนา “นักสื่อสารสร้างสรรค์” ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่ ทั้งยังหวังดึงพลังเด็กและเยาวชนสร้างสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมต่อไป
นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคม กล่าวว่า การพัฒนา “นักสื่อสารสร้างสรรค์” ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบูรณาการปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเรียนรู้ใหม่ ถือเป็นการเกิดขึ้นปีที่ 6 ภายใต้โครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่นและชุมชนด้วยต้นแบบหลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเครือข่ายเข้าร่วมเพื่อเป็นต้นแบบในการทำงาน ครอบคลุมใน 4 ภูมิภาค
ประกอบด้วย ภาคอีสาน โดย พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ จากไทยเสรีนิวส์ ภาคเหนือ โดยคุณชัยวัฒน์ จันทิมา จากพะเยาทีวี ภาคใต้ โดยคุณภูวสิษฏ์ สุกใส จากสงขลาโฟกัส และภาคกลาง โดยคุณสืบพงษ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากกลุ่มพลังแห่งต้นกล้า ที่ได้นำทัพเด็กและเยาวชนในภูมิภาคนั้นๆ มาร่วมโครงการการพัฒนาขับเคลื่อนผู้นำเครือข่ายสื่อมวลชนออนไลน์ท้องถิ่น และชุมชนด้วยต้นแบบ หลักสูตรสื่อชุมชนสื่อสารสุขภาวะ จำนวนกว่า 80 คน
มาเรียนรู้การทำงานก่อนลงไปสร้างสรรค์สื่อจริง ด้วยหลักสูตรใหม่ที่ทันสมัย และสามารถนำไปใช้ได้จริงกับการทำงาน เช่น 1.ดิจิทัลพลิกโลก (Digital Disruption) 2.การสื่อสารสุขภาวะ (Community for Health) 3.รู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) 4.กฎหมายและจริยธรรมการสื่อสาร 5.การสืบค้น การวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดทำแผนชุมชน 6.ความคิดสร้างสรรค์และการเล่าเรื่อง 7.การออกแบบและผลิตสื่อ
“การสร้างสรรค์สื่อครั้งนี้ เน้นให้มีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, Tiktok หรืออื่นๆ ตามที่นำเสนอภายใต้ประเด็น 1.รองรับสังคมผู้สูงวัย 2.ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาวะ 3.ทักษะรู้เท่าทันสื่อและความรอบรู้ด้านสุขภาพ 4.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5.อัตลักษณ์-ความดี-คนดีของสังคม ซึ่งสามารถติดตามผลงานเยาวชนทั้งหมดในครั้งนี้ได้ที่ www.artculture4health.com/mass” นายดนัย กล่าว
ด้าน พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ บรรณาธิการบริหารไทยเสรีนิวส์ กล่าวว่า สำหรับภาคอีสานปีนี้ส่งเยาวชนเข้าร่วมเพื่อสร้างสรรค์สื่อในโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งสิ้น 6 ทีม โดยมีเยาวชนจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 ทีม คือ ทีมพี่เอง ทีมลูกหล่า และทีมหนุ่มชุมชน จังหวัดมหาสารคาม โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 3 ทีม ทีมนาตาชาโรมานอฟ ทีมเป็นกำลังจั๊ย และทีม My Navis We love You
ทั้ง 6 ทีมนี้จะมีการนำเสนอผลงานและเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่จะเปิดตัวขึ้นต้นปี 2565 และแน่นอนว่าผลงานทั้งหมดจะมีการเผยแพร่ที่เว็บไซต์ และเพจไทยเสรีนิวส์ด้วย ผู้สนใจสามารถติดตามทุกผลงานได้เร็วๆ นี้แน่นอน
“นอกจาก 6 ทีมของภาคอีสานแล้ว ยังมีผลงานของเยาวชนในโครงการสื่อเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งการเรียนรู้ในภาคอื่นๆ เผยแพร่ออกมาด้วย ทุกผลงานจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคม เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางการสร้างสรรค์กลุ่มนักสื่อสารมวลชนที่จะเป็นพลังสร้างรากฐานของการสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนสังคม และประเทศชาติต่อไปได้แน่นอน” พ.ท.พิสิษฐ์ กล่าว