25 มิ.ย.2564 ที่พรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย แถลงสรุปผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของที่ประชุมรัฐสภา
นายสุทินกล่าวว่า ประเด็นแรก คือ การลงมตินั้นผ่านเพียงร่างเดียวร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบบเลือกตั้งบัตรเป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนอกจากนั้นอีก 12 ร่างไม่ผ่าน ผิดหวังว่าร่างที่ตกไปนั้น เป็นร่างที่เคยถกเถียงกันว่าทำเพื่อประชาชน เช่น ร่างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรม ร่างสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่างดีๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนถูกปัดตกหมด ประเด็นที่สองคือ เรื่องระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ มีเสนอคล้ายคลึงกันถึง 3 ร่าง มีร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับไม่ผ่าน ทั้งที่ร่างของพรรคเพื่อไทยนั้น แยกหลักการและวิธีการอย่างชัดเจนในร่างของพรรคเพื่อไทย แต่ส.ว.กลับไปเลือกร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแค่สองมาตรา โดยไม่มีรายละเอียด แตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทยที่ได้แก้ไขทั้งระบบ จึงเกิดคำถามว่า จะไปแก้กันอย่างไร เพราะร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เสนอแก้มาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ ประเด็นสามคือ มีร่างต่อต้านการกระทำรัฐประหาร เขียนไว้ละเอียด ห้ามรับรองการยึดอำนาจและห้ามรับรองผลิตผลของคณะรัฐประหาร สองสามเดือนก่อนเห็นบอกว่าต้องล้มล้างผลพวงรัฐประหาร แต่วันนี้กลับเงียบ จึงเป็นการลงมติที่ผิดหวังและต้องหาคำตอบ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นอกจาก 13 ร่างที่ผ่านแค่ร่างเดียวกับ โดยร่างที่ 14 คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย จะนำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งประธานรัฐสภา ไม่บรรจุไว้ในวาระประชุม แม้จะผ่านแค่ร่างเดียวในชั้นวาระรับหลักการ จะเห็นว่า หลายร่างแม้จะผ่านคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา เสียงจากสภาผู้แทนก็เกินกึ่งหนึ่ง แต่ติดขัดตรง ส.ว. ดังนั้นจึงเห็นชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบมาเพื่อไม่ให้แก้ หรือแก้ไม่ได้ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่รัฐสภาลงมติรับหลักการจะทำให้เกิดปัญหามาก หากมีการแก้ไขแล้วรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ได้แก้ไขไปด้วยจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร จึงคิดว่าเป็นการรับร่างเพื่อรักษาหน้าไปก่อน เพราะแม้ไม่รับร่างของพรรคพลังประชารัฐ ก็รักษาหน้าด้วยการไปรับร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ขายผ้าเอาหน้ารอด ส่วนจะไปแก้กันได้จริงไหม จะบังคับใช้ได้หรือไม่ หรือและจะขัดแย้งกันเองจนนำไปสู่ในการคว่ำในวาระที่ 3 หรือท้ายสุดอาจไปจบกันที่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นไปได้หมด ประการสาม ร่างญัตติ ที่มีสาระดีๆ โดยเฉพาะร่างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นในคณะกรรมาธิการ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 ลดทอนอำนาจมิให้การเรียกบุคคลหรือเอกสารมาให้ข้อมูล ซึ่งจำกัดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะอ้างว่าขัดต่อ รธน. 60 จึงเห็นว่า ไม่เคยมีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือข้าราชการมาให้ถ้อยคำความเห็นกับกรรมาธิการเลย พรรคเพื่อไทยปรารถนาสูงสุด ที่จะต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว แม้จะถูกห้ามแก้ทั้งฉบับ แต่เราจึงยังประกาศสู้ จะแก้ไขรายมาตราต่อไปในโอกาสต่อๆไป