วันอาทิตย์ ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 14.24 น.
“ยุทธพงศ์” ปลุกช่วยกันขวาง “ส.ว.” ล้มแก้รัฐธรรมนูญ ต้องผ่านไปให้ได้ เดินหน้ากลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โวยคิดจะประกาศก็ประกาศ มาตรการคุมโควิดสับสน ด้าน “จิรพงษ์” เตรียมชงยื่นซักฟอกปมวัคซีน
27 มิถุนายน 2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงผลการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพียงร่างเดียวว่า เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น ร่างของพรรคเพื่อไทย มีการแก้ 8 มาตราที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีความสมบูรณ์ ทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้ง ขณะที่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีการเสนอแก้เพียง 2 มาตรา คือมาตรา 83 และ 91 โดยให้มีส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งปัญหาคือ มีส.ว.กลุ่มหนึ่งเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญล้มไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกมาตรา 86(4) กำหนดว่ามี ส.ส. จำนวน 350 คน
“เรื่องนี้เราต้องช่วยกัน เพราะรัฐสภาได้มีเจตนารมย์ร่วมกันที่มีการรับร่างให้มีการแก้ไขตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ หากส.ว.ใจกว้างรับร่างที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่มีปัญหา ซึ่งร่างของพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์มีหลักการเดียวกันเลย แต่ผมยังเชื่อว่า เรื่องนี้ยังสามารถแก้ไขได้ในชั้น กมธ. เช่น ให้ยกเว้นข้อความในมาตรา 86(4) เราต้องทำเรื่องนี้ให้ผ่านให้ได้” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้นายยุทธพงศ์ พร้อมด้วยนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีการออกข้อกำหนดของ ศบค.ฉบับที่ 25 คุมเข้มโควิด-19 กทม. ปริมณฑล และ4จังหวัดภาคใต้ โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า พอปิดแคมป์คนงานก็ทำให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะแรงงานส่วนใหญ่รับจ้างรายวัน ปิดแคมป์ก็ไม่มีค่าแรงต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่เมื่อเดินทางกลับก็เอาเชื้อกลับไปด้วย ไปแพร่ในต่างจังหวัด ตนขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ออกมาตรการโดยเร่งด่วน เพื่อเยียวยาผู้ใช้แรงงาน ถ้าไม่ให้เขาทำงาน และไม่ให้เขาเดินทาง คุณก็ต้องชดเชยค่าจ้างให้เขา และต้องทำอย่างเร่งด่วน จะรอไม่ได้ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนหาเช้า กินค่ำ เขาก็รอไม่ได้เช่นกัน นี่คือปัญหาที่ท่านทำอะไรโดยไม่มีมาตรการรองรับ
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายกฯ ประกาศจะเปิดประเทศภายในเวลา 120 วัน ประชาชนตั้งคำถามมากว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จะฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ก็ทำไม่ได้ เนื่องจากไม่มีวัคซีน และที่บอกว่าซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนนิก้ามา 61 ล้านโดส อยู่ไหนก็ไม่รู้ ที่เห็นฉีดมีเพียงซิโนแว็คซึ่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ไม่เคยมีการแจ้งประชาชนว่า แอสตราเซเนกาจะมาเมื่อไร วันไหน ขอให้นำสัญญามาเปิดให้ดูว่าซื้อเท่าไหร่ ส่งมอบวันไหน ราคาเท่าไหร่ ก็ไม่เคยเปิดให้ดู” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งประกาศผ่อนคลายมาตรการ ให้สามารถนั่งทางอาหารได้ถึง 5 ทุ่ม แต่ยังไม่ถึงอาทิตย์ เมื่อคืนเวลาประมาณตี 1 ล็อกดาวน์ร้านอาหารแบบล็อกสนิท ห้ามนั่ง ให้ซื้อกลับไปทานได้อย่างเดียว สะท้อนให้เห็นว่านโยบายสับสนไปหมด แล้วจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาร้านอาหารอย่างไร เพราะไปให้เขาเปิดร้าน เขาสต๊อกอาหาร วัตถุดิบ และมีพนักงานที่ต้องมาทำงาน เมื่อคุณไปสั่งปิดเขาก็เสียหาย รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร ส่วนกรณีที่ไม่ให้ประชุมเกิน 20 คน ตนขอถามว่าตรงนี้จะกระทบกับการประชุมสภาฯ หรือไม่ เพราะสภามีนัดประชุมเวลา 09.30 น. ในวันพุธ และวันพฤหัสบดี ขณะที่ กมธ.งบประมาณฯปี65 จะมีนัดประชุมในเวลา 13.30-21.00 น. จันทร์-ศุกร์ ด้วย แสดงให้เห็นว่าทางรัฐบาลไม่ได้มีการเตรียมพร้อมอะไรเลย คิดจะประกาศอะไรก็ประกาศ ซึ่งขณะนี้วุฒิสภาที่จะมีการประชุมกันวันจันทร์-อังคารนี้ ได้สั่งงดประชุมไปเรียบร้อยแล้ว และยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมกันในวันไหน
ด้านนายจิรพงษ์ ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่าผู้ที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อม และอบจ. ยังไม่ได้รับวัคซีน ตนจึงหาข้อมูลว่าการกระจายไปถึงไหนแล้ว ปรากฏว่า มีข้อมูลการจัดสรรวัคซีนถึงวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาเท่านั้น ตนเห็นว่าการกระจายวัคซีนยังไม่เป็นธรรม ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีน 2.4 ล้านคน แต่พนักงานในบริษัทใหญ่บางบริษัท อายุเพียง 22 และแข็งแรง ได้รับวัคซีนไปวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา แบบนี้เป็นธรรมกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ดังนั้น ในวันอังคารที่ 29 มิ.ย. ที่จะมีการประชุมส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ตนจะเสนอที่ประชุมของพรรคยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152