‘เพื่อไทย’ จับผิด รัฐบาลจงใจสร้างหนี้ แลกขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว บี้ ‘บิ๊กตู่’ จัดการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เปิดแข่งขันประมูลเสรี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค และนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี ร่วมแถลงข่าวแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมาหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่าอยู่ระหว่างการเจรจาของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมและ กทม.เรื่องหนี้สิน 3.2 หมื่นล้านว่า ขณะนี้ กทม.เป็นหนี้บีทีเอสอยู่ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานให้ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเพราะไม่ได้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งเรื่องนี้พรรคพท.ติดตามและเปิดประเด็นเรื่องนี้ตั้งแต่มีนาคม 2562 โดยสาเหตุที่ทำให้สายสีเขียวเป็นหนี้ เพราะปล่อยให้นั่งส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและเขียวใต้ฟรี 25 สถานี โดยส่วนต่อขยายเขียวใต้ตั้งแต่สถานีแบริ่งไปถึงเคหะบางปู ส่วนสายเขียวเหนือตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวไปสิ้นสุดที่สถานีคูคต นั่งฟรีตั้งแต่ปี 60 มาจนตอนนี้เกือบ 5 ปี จนเป็นปัญหารื่องหนี้สินสะสมที่ภาครัฐมีต่อบีทีเอส แบ่งเป็นสองก้อน คือหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทตั้งแต่เดือน เมษายน – กรกฎาคม 2564 และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวม 3.2 หมื่นล้านบาท
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า เดิมสัญญาสัมปทานหลักช่วงสถานีหมอชิต – สถานีตากสินอ่อนนุชหรือเส้นไข่แดง เริ่มสัญญาตั้งแต่ปี 42 สิ้นสุดปี 2572 พอมาถึงยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.ช่วงปี 55 กทม.ทำส่วนต่อขยายตากสินไปบางหว้า และอ่อนนุชไปแบริ่ง โดย กทม.สร้างเองและจ้างบีทีเอสเดินรถ สิ้นสุดสัญญาปี 2585 แต่ที่ไม่ชอบมาพากลเพราะ กทม.จะจ้างบีทีเอสที่วิ่งรถเส้นไข่แดงซึ่งหมดสัญญาปี 2572 แต่กลับไปขยายสัญญาสัมปทานให้ถึงปี 2585 ซึ่ง ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบอยู่ ต่อมาในปี 2559 มีส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าฯ กทม. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไปจ้างบีทีเอสวิ่งรถโดยวิธีพิเศษ ไม่มีมติ ครม.หรือกฎหมายรองรับ และไปสิ้นสุดสัญญาปี 2585 ซึ่งทั้งสองเส้นนี้ไม่เก็บเงิน ให้ประชาชนนั่งฟรี ก็เป็นที่มาของหนี้มหาศาล ถามว่ามีรถไฟฟ้าที่ไหนให้ประชาชนนั่งฟรีตั้งแต่เปิดจนถึงวันนี้นานเกือบ 5 ปี และพอมาถึงปี 2564 มีความพยายามขยายสัญญาสัมทานทั้งเส้นไข่แดงและส่วนต่อขยายทั้งหมดออกไปอีก 40 ปีให้ไปหมดสัญญาปี 2602 แลกกับหนี้ทั้งหมด ซึ่งพรรคพท.คัดค้านมาโดยตลอด เพราะว่าไม่โปร่งใสเพราะไม่ได้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เหตุที่เป็นหนี้คือ 1.กทม.จงใจบริหารจ้างบีทีเอสเดินรถสายสีเขียวเหนือและใต้แบบผิดกฎหมายและแพงเกินจริง แต่ดึงดัน เอาประชาชนเป็นตัวประกัน 2.กทม.หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน ปล่อยให้บีทีเอสมาเดินรถ โดยไม่เปิดให้บริษัทอื่นมาเสนอราคาเข้าแข่งขัน ทำให้ค่าโดยสารสูงเกินจริง 3.มูลค่าการจ้างสูงเกินความเป็นจริง 4.ใช้นโยบายประชานิยมเดินรถฟรี ทำให้รายได้ค่าโดยสารไม่พอค่าจ้าง ทำให้เป็นหนี้ทุกวัน ดังนั้นพรรคพท.ขอเสนอแนวทางเพื่อไม่ให้หนี้สินเพิ่มมากจนเกินไป โดย 1.จะต้องหยุดการจ้างที่ผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด รัฐบาลและ กทม.ต้องกำหนดวันเวลาให้ถูกต้องชัดเจน ตรวจสอบสัญญาต่างๆ ว่าทำไมต้องไปจ้างวิ่งในราคาเท่านี้ ทำไมให้ประชาชนนั่งฟรี และต้องกำหนดเวลาตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในเวลาเท่าไร 2.ระหว่างดำเนินการแก้ไขต้องยอมจ้างบีทีเอสเดินรถไปก่อน แต่ กทม.ต้องเก็บค่าโดยสารที่เหมาะสม ไม่ใช่ให้นั่งฟรีอย่างเดียว 3.ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน มีหน่วยงานตรวจสอบค่าจ้างหรือผลประโยชน์ของรัฐอย่างเข้มข้น ที่สำคัญค่าโดยสารต้ิงเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของคน กทม. ไม่ใช่สูงจนคนจนในกทม.รับไม่ได้ 4.รัฐต้องเอาผิดกับคนที่รับผิดชอบ และ กทม.ต้องสู้คดีเรื่องหนี้ให้ถึงที่สุด หากไม่สู้เท่ากับล้มมวย เอาหนี้มาให้ กทม.แบก เป็นภาระคนกรุงเทพฯ 5.อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อยากให้ผู้สมัครใช้เป็นนโยบายหาเสียงไปเลยว่าคน กทม.ต้องการให้มีการแข่งขัน โดยการประมูลใหม่เมื่อสัญญาสิ้นสุดในปี 2572 เพื่อให้ราคาเป็นธรรม ส่วนที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ที่อยากต่อสัญญาออกไป 2540 ปีโดยใช้ ม.44 คำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 ก็หาเสียงแบบนี้มาเลยถ้าลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สภากทม.เรียกร้องให้ กทม.เร่งรัดจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้เพื่อไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้น แต่ กทม.ก็ไม่ยอมจัดเก็บ ขณะสายสีแดงจากยางซื้อไปดอนเมือง เปิดตั้งแต่ 2 สิงหาคม ก็ให้นั่งฟรีแค่ 3 เดือน ปัจจุบันเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท แต่สายสีเขียวกลับแปลก เหมือนจะพยายามสร้างหนี้ให้เยอะๆ เพื่อให้ใช้หนี้ไม่ไหว แล้วยกสัมปทานให้บีทีเอสมาวิ่งต่ออีก 40 ปี
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่