30 มกราคม 2564
| โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
8,891
เช็คความคืบหน้า “วันหยุดประจำภาค” ปี 2564 มีอัพเดทใหม่ว่า วันหยุดดังกล่าวถ้าเป็นของภาคไหนก็ให้หยุดเฉพาะภาคนั้น และหยุดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และโรงเรียนเท่านั้น
หลังจากที่เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศ “วันหยุดกรณีพิเศษ” และ “วันหยุดประจำภาค” ออกมา ทำให้ในปี 2564 เป็นปีที่มีวันหยุดเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกปี โดยเฉพาะประเด็นของวันหยุดประจำภาค ที่เพิ่งจะมีประกาศในปีนี้ เป็นปีแรก! หลายคนยังมีข้อสงสัยว่าจะแบ่งให้หยุดอย่างไร? ใครได้หยุดบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์หาคำตอบมาให้แล้ว เช็คเลย!
มีข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ค “ไทยคู่ฟ้า” ระบุถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า ครม. มีมติเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 กำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ แบบหยุดทั้งประเทศ และวันหยุดราชการประจำภาค ประจำปี 2564 เป็นการเฉพาะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในปีนี้ แบ่งเป็น
- วันหยุดราชการกรณีพิเศษ ได้แก่ : วันศุกร์ที่ 12 ก.พ. 64 (วันตรุษจีน) / วันจันทร์ที่ 12 เม.ย. 64 (เทศกาลสงกรานต์) /
วันอังคารที่ 27 ก.ค. 64 (หยุดชดเชยวันเข้าพรรษา) / วันศุกร์ที่ 24 ก.ย. 64 (วันมหิดล)
- วันหยุดประจำภาค ได้แก่
ภาคเหนือ : วันศุกร์ที่ 26 มี.ค. 64 (ประเพณีไหว้พระธาตุ)
ภาคอีสาน : วันจันทร์ที่ 10 พ.ค. 64 (ประเพณีงานบุญบั้งไฟ)
ภาคใต้ : วันพุธที่ 6 ต.ค. 64 (ประเพณีสารทเดือนสิบ)
ภาคกลาง : วันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 64 (เทศกาลออกพรรษา)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- สรุป ‘วันหยุด2564′ นอกจาก ‘ตรุษจีน’ ยังมีวันหยุดพิเศษวันไหนอีกบ้าง?
- เฮ! ครม.ไฟเขียว เพิ่ม ‘วันตรุษจีน’ 12 ก.พ.64 เป็น ‘วันหยุดราชการ’ กรณีพิเศษ
- เช็ค! ธนาคารออมสิน ประกาศ ‘วันหยุดปี 2564’
- ต้องรู้! “วันหยุดประจำภาค” ใครหยุดบ้าง?
สำหรับวันหยุดราชการประจำภาคนั้น หลายคนสงสัยว่า หยุดเฉพาะภาคนั้นใช่ไหม? ใครหยุดบ้าง? และจังหวัดเราอยู่ภาคอะไรกันแน่? มีคำตอบ ดังนี้
1. วันหยุดประจำภาคไหน ก็ให้หยุดเฉพาะภาคนั้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบให้รายละเอียดว่า วันหยุดประจำภาคไหน ก็ให้หยุดเฉพาะภาคนั้น และ “หยุดเฉพาะหน่วยงานของรัฐ” โดยดูจากสถานที่ตั้งของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน ว่าอยู่ในจังหวัดไหน ก็ให้หยุดตามวันหยุดประจำภาคนั้น เท่ากับว่า 1 คน จะมีวันหยุดประจำภาค 1 วัน
ส่วนพนักงาน ลูกจ้าง ของภาคเอกชนและธนาคารให้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่รัฐบาลก็ขอความร่วมมือเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน
2. จังหวัดบ้านเกิดเรา อยู่ภาคไหนกันแน่?
เกณฑ์การพิจารณาว่าจังหวัดไหนอยู่ภาคไหน ระบุว่าต้องอ้างอิงจากประกาศ “คณะกรรมการนโยบายการบริหารจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ” ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 60 โดยหลักเกณฑ์วันหยุดประจำภาค กำหนดให้
– ภาคกลาง (จังหวัดภาคกลาง+ตะวันออก) : กทม. ชัยนาท อยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว
– ภาคใต้ (จังหวัดภาคใต้+ภาคใต้ชายแดน) : ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา
– ภาคอีสาน : บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
– ภาคเหนือ : เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี
——————-
ดูประกาศ คกก. นโยบายการบริหารงานจังหวัดฯ คลิก >> http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/281/14.PDF