นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เผยข้อสงสัยทุจริตโครงการ โคกหนองนาโมเดล ในมหาสารคาม จากงบเงินกู้ 4,700 ล้าน
วันที่ 20 มี.ค.64 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็น ในวันที่ 18 มีนาคม 2564 นำเสนอข่าวเรื่อง โคก หนอง นา โมเดล ในพื้นที่อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม กรณี นายถนอม เล็กเจ๊ก ซึ่งเป็นครัวเรือนเป้าหมายที่สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ระดับครัวเรือน ซึ่งจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
1. นายถนอม เล็กเจ๊ก มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 20 ไร่ นำพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 ไร่ และเลือกแบบในการขุดปรับพื้นที่โดยใช้แบบมาตรฐานกรมการพัฒนาชุมชน 1:1 ขณะนี้ การดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จตามโครงการ ซึ่งได้ดำเนินการขุดบ่อเก็บกักน้ำไปแล้วจำนวน 2 บ่อ แต่ยังไม่มีการขุดคลองหรือคลองไส้ไก่ โดยในเบื้องต้นช่างผู้ควบคุมงานได้คำนวณปริมาณงานและแจ้งให้นายถนอม เล็กเจ๊ก ทราบว่าพื้นที่อาจจะไม่เพียงพอสำหรับการขุดคลอง คลองใส่ไก่ ซึ่งในแบบมาตรฐานกำหนดความยาวของคลองไว้จำนวน 850 เมตร จะขุดได้จริงประมาณ 175 เมตร ส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการขุดได้จะต้องส่งเงินคืนตามระเบียบของทางราชการ แต่นายถนอมอยากจะขุดบ่อเพิ่มเติมเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่แปลงนาซี่งอยู่นอกพื้นที่ 3 ไร่ โดยไม่ต้องขุดคลองหรือคลองใส่ไก่ในแปลงพื้นที่เป้าหมาย 3 ไร่
ในกรณีดังกล่าว จังหวัดมหาสารคาม จึงได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับนายถนอมฯ ช่างผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้เรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงหรือภัยพิบัติ โดยต้องพัฒนาพื้นที่ 3 ไร่ให้เป็นต้น แบบกับครัวเรือนอื่นได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 5 ปีเป็นอย่างน้อย แต่สามารถที่จะปรับผังรูปแบบของคลอง คลองไส้ไก่ในแปลง ให้มีความกว้างมากขึ้นและเพิ่มความลึกของคลองได้ 3 เมตร โดยไม่ต้องมีวิศวกรรับรองแบบ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้มีดินถมเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการ โดยนายถนอมฯ มีความเข้าใจและพึงพอใจกับแนวทางดังกล่าว และช่างผู้ควบคุมงานจักได้ปรับผังรูปแบบและแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการชุดปรับพื้นที่ต่อไป
2. กรณีคลิปเสียงที่ระบุว่า “ให้คุยกับนายและมีการจ่ายเงิน 25%” นั้น ได้สอบถามคนในพื้นที่แล้วไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นคลิปเสียงจากใครอยู่ที่ไหน ในกรณีที่ระบุว่ามีการเรียกรับเงิน ได้สอบถามกับผู้รับจ้างที่เข้าทำสัญญากับอำเภอนาเชือกแล้ว ผู้รับจ้างยืนยันว่าไม่มีการเรียกรับเงินจากการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว
3. นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม ระบุว่า คนที่ได้รับการจ้างงาน ไม่มีเครื่องจักรแต่ได้รับงาน แล้วนำงานไปขายต่อเพื่อกินหัวคิว ในกรณีดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำกับนายอำเภอทุกอำเภอ ว่าในการจ้างานให้คำนึงถึง ความพร้อมและความสามารถของผู้รับจ้างเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง
เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความสำคัญกับประชาชนจังหวัดมหาสารคาม และมีข้อจำกัดที่จะต้องขุดปรับพื้นที่
ให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนที่จะเข้าฤดูฝน และขอให้กระจายงาน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่อำเภอนาเชือก พบว่า ผู้รับจ้างที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างแล้วเป็นผู้ที่มีเครื่องจักรและไม่ได้นำงานไปขายต่อตามที่ปรากฎในข่าว
4. กรณีที่คลิประบุว่าผู้รับจ้างไม่มีความรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาตินั้น การออกแบบแปลนรูปแบบรายการเพื่อใช้ในการขุดปรับพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล ได้มาจากแบบมาตรฐานตามหลักวิชาการ ซึ่งออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และสามารถปรับให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องตามภูมิสังคม
5. ข้อมูลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล จังหวัดมหาสารคามดำเนินการในพื้นที่ 15 อำเภอ 85 ตำบล จำนวน 635 แปลง/ครัวเรือน ดังนี้
5.1 จำนวนพื้นที่ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 635 แปลงๆละ 3 ไร่ งบประมาณดำเนินการแปลงละ 104,000
บาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม มอบอำนาจให้นายอำเภอดำเนินการฯ
5.2 มีการลงนามในสัญญาจ้างแล้วทั้ง 11 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 158 แปลง/สัญญามีผู้รับจ้าง 77 ราย
โดยผู้รับจ้างมีเครื่องจักรทุกราย ทั้งนี้ ผู้รับจ้างยืนยันว่าไม่มีการเรียกรับเงินตามที่เป็นข่าว
6. ประเด็นเรื่อง การทุจริต ได้มีข้อสั่งการและกำชับในทุกระดับตั้งแต่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนและรัฐ
7. การดำเนินโครงการดังกล่าว จังหวัดมหาสารคามมีหน่วยตรวจสอบที่ได้เข้ามาขอรับข้อมูลเพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด, สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดและคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด และคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานในระดับอำเภอ โดยมีการตรวจทั้งงานเอกสารและลงตรวจแปลงที่ได้ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้ว 5 อำเภอ ยังคงเหลือ 6 อำเภอ ซึ่งจะแล้วเสร็จตามแผนการตรวจติดตามทั้ง 11 อำเภอ ในวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยจากการตรวจติดตามใน 5 อำเภอ ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินโครงการที่สามารถตรวจสอบได้
กรมการพัฒนาชุมชน มุ่งมั่นว่าการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่าเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีการกำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ให้ดำเนินงานตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และได้เปิดช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น Facebook ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เว็บไซต์ https://www.cdd.go.th หรือ โทร.02 141 6047