กาฬสินธุ์กำลังซื้อหดโรคระบาดกระทบยอดขาย SMEs 20-30% ประธานหอการค้าแนะหน่วยงานรัฐทบทวนยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อพัฒนาให้ตรงจุด หวังชูท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ พร้อมผลักดันสนามบินกาฬสินธุ์-มหาสารคาม เมกะโปรเจ็กต์ดึงความเจริญเข้าสู่จังหวัด
นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกุล ประธานหอการค้ากาฬสินธุ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในจังหวัดแล้ว ฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาราคาข้าวก็ตกต่ำด้วยเช่นกัน
โดยราคารับซื้อข้าวอยู่ที่ 7-12 บาท/กก. ส่งผลต่อกำลังซื้อของคนในจังหวัดเป็นอย่างมาก ประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยและการดำเนินชีวิตกันมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงซบเซา ยอดขายผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดลดลงกว่า 20-30%
ทั้งนี้ ภาคการเกษตรถือเป็นส่วนที่ทำรายได้ให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้าวซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูกข้าวล้านกว่าไร่ เมื่อข้าวราคาตกจึงได้รับผลกระทบในเรื่องรายได้มากพอสมควร ปกติกาฬสินธุ์จะทำข้าวนาปรังปีละ 3 แสนไร่ แต่ปีนี้คาดว่าไม่ถึง 1 แสนไร่
เพราะน้ำในเขื่อนลำปาวก็มีปริมาณไม่มากเท่าปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องจำกัดพื้นที่การทำข้าวนาปรังของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายได้น้อยลง ส่งผลให้กำลังซื้อของคนในจังหวัดลดลงตามไปด้วย
“เราวางแผนที่จะทำยุทธศาสตร์เสนอจังหวัดให้จัดตั้งกรรมการทบทวนยุทธศาตร์จังหวัดโดยเฉพาะ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการว่าอะไรควรทำก่อน-หลัง งบประมาณที่ได้มาควรผลักดันไปส่วนที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเรามากกว่า ต้องมียุทธศาตร์ที่ชัดเจนและสื่อสารกันให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อผลักดันโครงการใหญ่ ๆ ของจังหวัดที่เห็นชอบกันแล้วในที่ประชุม ทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมต้องมาใช้แผนฉบับเดียวกันให้ได้ อย่าต่างคนต่างทำ และแผนพัฒนาจังหวัดก็ควรทำอย่างต่อเนื่องและให้สอดคล้องกัน เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้”
นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ถือเป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 70-80% ส่วนใหญ่เที่ยวแบบไป-กลับ อาทิ โครงการนำฮอยทวารวดี ปีใหม่เมืองฟ้าแดด ที่จัดขึ้นภายในโบราณสถานพระธาตุยาคู อำเภอกมลาไสย ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวเฉลี่ยแต่ละปีกว่า 1 แสนคน ล่าสุดปี 2564 ทำให้ยอดขายสินค้า OTOP เพิ่มขึ้น 20-30%
ดังนั้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป จังหวัดต้องเตรียมแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ต้องเลือกกลุ่มหรือจุดที่สำคัญเพื่อพัฒนาให้เป็น landmark ของจังหวัด กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและเกิดการซื้อขายสินค้า OTOP หรือสินค้าพื้นเมือง และสามารถเพิ่มกำลังซื้อในจังหวัดได้
นอกจากนี้จังหวัดกาฬสินธุ์กำลังขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินกาฬสินธุ์-มหาสารคาม เป็นโครงการระยะยาวและจะกลายเป็นเมกะโปรเจ็กต์ หรือโครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่เคยมีมาก่อน งบประมาณในการศึกษาประมาณ 8 ล้านบาท
โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้จัดตั้ง ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการจัดหาบริษัทมาทำการศึกษาพื้นที่และความคุ้มทุน คาดไม่เกินเดือนมกราคมปี 2564 และจะใช้เวลาในการศึกษา 1 ปี โดยพื้นที่เป้าหมายคือ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ติดกับ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม บริเวณปากทางเข้าเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันและสนับสนุนโครงการสนามบินกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ให้ผ่านการอุนมัติจาก ครม. เพราะจะเป็นการยกระดับพื้นที่ให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับประชากรจากทั้งสองจังหวัดที่จะมาใช้บริการได้ คาดว่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุนได้ในระยะยาวภายใน 5-10 ปี
“ตอนนี้ภาคเอกชนกำลังประคองตัวเองเพื่อให้ผ่านวิกฤตช่วงนี้ไปให้ได้ และเบื้องต้นอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย (SMEs) เพราะปัจจุบันมาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs หรือปล่อยให้ผู้ประกอบการกู้นั้นไม่ค่อยได้ผล
ธนาคารยังมีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก คนที่มีเงินอยู่ก็ไม่กล้าลงทุนเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้จังหวัดไม่สามารถขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ ต่อไปได้ อีกทั้งมาตรการแจกเงินช่วยเหลือก็ควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนไหน”