ประเด็นเด็ด 7 สี – ชาวบ้านหม้อ ในอำเภอเมืองมหาสารคาม ขึ้นชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผามาเกือบ 200 ปี แต่นับวันช่างปั้นกลับลดน้อยลง กระทั่งเจ้าอาวาสวัดประจำหมู่บ้านนำผลงานเครื่องปั้นทั้งในอดีตและปัจจุบันมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ จนมีสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ความสนใจ ติดตามรายงานจากคุณชนะชัย แก้วผาง
ชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม ยังคงปั้นดินเผาอย่างขะมักเขม้น แต่ทุกขั้นตอนละเอียดอ่อน และปราณีต ต้องยอมรับว่า เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำได้ยาก นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้หมู่บ้านปั้นดินเผาแห่งนี้ เหลือช่างปั้นเพียง 15 คน ทั้งที่ในอดีตมีคนทำแทบทุกครอบครัว
การขึ้นรูปเครื่องปั้นด้วยไม้ตีและหินดุ เป็นหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่แต่ละคนอาศัยประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปี
ช่างปั้นส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน เป็นผู้หญิงอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปี ไปจนถึง 70 ปี แต่ละคนต่างสืบทอดการปั้นดินเผามาจากคนรุ่นเก่า
ความยากของการทำเครื่องปั้นดินเผา ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง นี่คงเป็นสาเหตุที่คนทำเครื่องปั้น ค่อย ๆ ลดน้อยลง แม้ว่าสินค้าที่ผลิตแทบไม่พอขาย
กว่า 3 ปีแล้ว ที่พระครูปริยัติกิจจาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านหม้อ พาชาวบ้านนำเครื่องปั้นดินเผาแต่ละยุคสมัย มาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ และพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
เครื่องปั้นดินเผา ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวอีสานมาอย่างช้านาน แต่มันจะไม่เลือนหายไป หากยังมีคนมองเห็นคุณค่า ช่วยกันอนุรักษ์ และพัฒนา สืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น