หลวงปู่ขาว ปัญญาวุฑโฒ วัดพุทธมงคล มหาสารคาม – วันอาทิตย์ที่ 31 ม.ค.2564 น้อมรำลึกครบรอบ 98 ปี ชาตกาล “หลวงปู่ขาว ปัญญาวุฑโฒ” หรือ “พระครูปัญญาวุฒิวิชัย” อดีตเจ้าอาวาสวัดพุทธมงคล ต.คันธารราษฎร์อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม และอดีตเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสารคาม เป็นศิษย์สืบสายธรรมพระครูวิชัยกันทรารักษ์
มีนามเดิมว่า ทองมาก ศิริบุตรวงศ์ เกิด เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2466 ที่ ต.คันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
หลังจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ลาออกมาช่วยงานครอบครัวหาเลี้ยงชีพ
อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดสุวรรณมงคล อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม มีพระครูวิชัยกันทรารักษ์ เจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสิริมงคล เจ้าอาวาสวัดพุทธมงคล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์อ่ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
จากนั้นเดินทางไปจำพรรษาศึกษา พระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดสว่างมะโน อ.เมือง จ.ขอนแก่น พ.ศ.2493 จนสอบได้ นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ
ต่อมาเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชาจากพ่อธรรมบัว บ้านหนองโก ที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ทรงวิทยาคมทั้งนี้ พ่อธรรมบัวได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้จนหมดสิ้น
วัตรปฏิบัติ คือ การเดินจงกรม และทุกคืนเวลา 3 นาฬิกา ท่านจะตื่นขึ้นมานั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา รวมทั้งหลังออกพรรษา ทุกปีจะออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาในภาคอีสานเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอย พระตถาคต
ต่อมาอยู่จำพรรษาปฏิบัติธรรมที่วัดพุทธมงคล และอยู่ที่นี่ตราบจนวาระสุดท้าย
ลำดับงานปกครอง พ.ศ. 2510 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณมงคล และเจ้าคณะตำบลโคกพระเขต 2 พ.ศ. 2511 เป็น พระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2512 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธมงคล พ.ศ. 2536 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย ต่อมา ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย
พ.ศ. 2546 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอกันทรวิชัย
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูปัญญาวุฒิวิชัย พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
เป็นพระผู้มากเมตตา ในแต่ละวันมีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เสริมความเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ ในวันสำคัญของชาติจะพาญาติโยม พระภิกษุ-สามเณรปลูกต้นไม้ในวัดและที่สาธารณประโยชน์ ทุกครั้งที่แสดงธรรมจะ สอดแทรกประโยชน์ของต้นไม้ที่มีต่อมนุษย์และสัตว์เข้าไปด้วย ทำให้ภายในวัดแห่งนี้อุดมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่สร้างความร่มรื่นร่มเย็นปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านการศึกษาสงฆ์ สนับสนุนการเรียนพระปริยัติธรรม เนื่องจากพระภิกษุ-สามเณรส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน หากเรียนดีท่านจะมอบปัจจัยส่วนตัวเป็นทุนการศึกษาให้ทุกปี และตลอดเวลาที่ปกครองพระภิกษุ-สามเณร ยึดหลักเมตตาธรรมคอยแนะนำสั่งสอน ส่งผลให้พระภิกษุ-สามเณรในปกครองไม่เคยออกนอกลู่ นอกทาง
ในส่วนของหลักธรรมที่พร่ำสอน คือ ไม่ให้ยึดติดวัตถุมงคลมากเกินไป จะทำให้ เข้าถึงหลักธรรมคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาได้ยาก
ดังนั้น ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จึงได้อนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญรูปเหมือนเพียงรุ่นเดียว ท่านขอให้ยึดพระธรรมคำสอน นำศีล 5 ขององค์พระศาสดาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต จะทำให้ชีวิตตนเองและครอบครัวพานพบแต่ความสุขกายสุขใจ
พ.ศ. 2541 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเสมาธรรมจักรทำคุณประโยชน์แก่วงการศึกษาสายสามัญ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ในช่วงบั้นปลายชีวิตด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร อาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2553
สิริอายุ 87 ปี พรรษา 67
เชิด ขันตี ณ พล