‘สุทิน’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ ควรสละเก้าอี้นายกในเดือน ส.ค. 2565 เพราะครบ 8 ปี นับจากรัฐประหาร ตามเจตนารมย์ รธน. จะต้องแสวงหาการยุติที่เป็นบรรทัดฐานโดยการยื่นศาล รธน.ให้ตีความ – ‘สมคิด เชื้อคง’ เชื่อนักลงทุนแหยงไม่กล้าลงทุนเพราะไม่เชื่อมั่นผู้นำรัฐบาล – ‘หมอชลน่าน’ จี้คุ้มครองทั้งบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการ
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย | แฟ้มภาพ
25 ก.ย. 2564 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” โดยหากนับการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ก็จะครบ 8 ปี ในปี 2565 ว่าประเทศไทยก็มักจะตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัยเยอะ จึงทำให้มีการตีได้ 2 แนวทาง คือ 1.การดำรงตำแหน่งนายกฯ จะมีผลตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เป็นต้นไป หากตีความแบบนี้ก็จะหมายความว่าไม่นับรวมอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนปี 2560 ดังนั้นจะครบ 8 ปีในปี 2567 และ 2.ตีความตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ คือต้องนับอายุการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่เป็นนายกฯ เป็นต้นมา ซึ่งก็คือจะครบ 8 ปี ในเดือน ส.ค. 2565
นายสุทิน กล่าวว่า จากนี้ก็ต้องดูว่าจะตีความไปในแนวทางใด แต่ตนคิดว่าควรตีความตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญคือนายกฯ ควรจะเป็นต่อกันไม่เกิน 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะเป็นนายกฯ ได้อีกเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีพวกศรีธนญชัยที่ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับย้อนหลัง คือให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560
เมื่อถามว่า หากความเห็นการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สุดท้ายจะจบอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่าต้องจบที่ พล.อ.ประยุทธ์ คือไม่ต้องให้เกิดความขัดแย้งในการตีความมาก ก็ให้จบการดำรงตำแหน่งนายกฯ ในเดือน ส.ค. 2565 โดยการเคารพเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีที่ทั่วโลกปฏิบัติตาม คือ ประเทศประชาธิปไตยจะไม่ให้ผู้นำดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัยหรือ 8 ปี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ สามารถหาทางออกได้ โดยไม่ต้องให้สังคมเกิดความขัดแย้งกัน
เมื่อถามว่า หากครบกำหนด 8 ปี แต่นายกฯ ยังไม่ลาออก ฝ่ายค้านจะทำให้เรื่องนี้เกิดความชัดเจนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ฝ่ายค้านยังไม่ได้หารือกันในประเด็นนี้ แต่เราจะต้องแสวงหาการยุติที่เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ
‘สมคิด เชื้อคง’ เชื่อนักลงทุนแหยงไม่กล้าลงทุนเพราะไม่เชื่อมั่นผู้นำรัฐบาล
เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 ว่านายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า หลายปีในการบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กู้เงินทุกปี แต่การกู้เงินเงินของรัฐบาลไม่เคยช่วยให้ประเทศดีขึ้น รัฐบาลคุยโตว่ารัฐบาลนี้แจกเงินประชาชนมากที่สุด แต่การกู้เงินมาแจกประชาชนไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ จึงไม่เกิดประโยชน์กับระบบเศษรษฐกิจไทย
ในขณะเดียวกันหากมองดูจะพบว่าการลงทุนภาคเอกชนในช่วง 2-3 ปีทีผ่านมา ไม่มีการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนการลงทุนจากภาครัฐก็น้อยมาก เพราะรัฐไม่มีงบประมาณเพียงพอในการลงทุน เนื่องจากเก็บภาษีพลาดเป้า คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2564 รัฐบาลเก็บภาษีพลาดเป้าไป 300,000 ล้านบาท สะท้อนถึงการบริหารราชการที่ล้มเหลวทุกด้าน
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ในการกู้เงินรอบใหม่ของรัฐบาล หากใช้เพียงกระดาษแผ่นเดียวมากู้ พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ทั้งนี้มีข่าวว่าพลเอกประยุทธ์เตรียมกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน รัฐบาลต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะนำไปใช้อะไรบ้าง ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านไม่คัดค้านการกู้เงิน เพราะคาดหวังว่ารัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น จะทำให้พี่น้องอยู่ดีกินดีแต่สุดท้ายทำอะไรไม่ได้เลย เงินที่กู้มาหายไปกับโครงการเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนใกล้ชิด
“จนถึงวันนี้รัฐบาลสร้างหนี้ให้กับคนไทยทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านล้าน ต้องใช้หนี้กันนานกว่า 3 ชั่วอายุหรือไม่ต่ำกว่า 100 ปี ก็ไม่หมด ในขณะที่ศักยภาพการใช้หนี้ไทยน้อยมาก นอกจากนี้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนเพราะไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล นักลงทุนไม่กล้าลงทุนกับรัฐบาลชุดนี้ ที่บอกว่านักลงทุนพร้อมมาลงทุนในประเทศไทยเป็นเรื่องมโนของพลเอกประยุทธ์ที่วาดฝันแต่ไม่เป็นจริง” นายสมคิด กล่าว
‘หมอชลน่าน’ จี้คุ้มครองทั้งบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการ
เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2564 ว่านายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่าง พ.ร.ก แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ โรคติดต่อ 2558 พ.ศ. …. ว่า ทั้งนี้จากการพิจารณา พบว่า สาระสำคัญ มีการแยกบริหารสถานการณ์โรคติดต่อกรณีปกติและกรณีที่มีความรุนแรง โดยรัฐบาลนำเอาบทบัญญัติบางประการจาก พ.ร.ก ฉุกเฉิน 2548 มาบัญญัติไว้
ทั้งนี้ การประกาศและการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จัดตั้ง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยนายกฯ เป็นประธาน ทำหน้าที่คล้าย ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. กำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกัน ระงับ ควบคุมหรือขจัดโรคติดต่อ ให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวด้วยว่า “คำถามที่ต้องถาม รัฐไม่ต้องชดเชยความเสียหาย คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนทุกระดับ หรือไม่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมือง ที่ออก นโยบายผิดพลาด เป็นผลการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรค ทำให้เกิดความเสียหาย ได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ? มีเจตนาที่จะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายการเมืองใช่หรือไม่ เพราะการเขียนกฎหมายเช่นนี้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด
การให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มีความไม่พร้อมหลายๆ ด้านอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
“โดยหลักของสิทธิในชีวิตและร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญแล้วทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากรัฐทั้ง ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องได้รับความคุ้มครองไม่มีความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ก่อนที่จะนำทูลเกล้าฯ หวังว่าผู้เกี่ยวข้องควรทบทวนในประเด็นเหล่านี้” นายแพทย์ชลน่าน กล่าว