เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 21 มิ.ย.2564 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตำรวจภูธรภาค 4 จ ขอนแก่น นางจุฑารัตน์ พิก้อทท์ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 119 ม.2 ต.วังหิน อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ นำเอกสาร หลักฐาน เกี่ยวกับรถแม็คโคร รถเกี่ยวข้าวและรถบรรทุก 6 ล้อ รวมมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท รวมทั้ง เอกสานการผ่อนจ่ายค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ และเอกสารการโอนเงิน-การทวงถามและพูดคุยผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เข้าร้องเรียน เพื่อขอความเป็นธรรมและขอแจ้งความ เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับคนที่ยักยอกฉ้อโกงเอาทรัพย์สินไป รวมทั้งการร้องเรียนต่อ พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 เพื่อเอาผิดกับกลุ่มขบวนการดังกล่าว เนืองจากเป็นผู้มีอิทธิพล อยู่ในเขต จ.มหาสารคาม
นางจุฑารัตน์ กล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับปิดชอบของตำรวจภูธรภาค4 ที่ผ่านมา เคยเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บรบือมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ เพราะระบุว่าเป็นคดีซ้ำซ้อน เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายคำพองซึ่งเป็นคนรู้จักกันและเป็นคนยักยอกเอารถแมคโคร รถเกี่ยวข้าว และรถบรรทุก6 ล้อ ไป ได้แจ้งความและแจ้งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดไว้แล้ว เมื่อตัวเองเข้าแจ้งความตำรวจ สภ.บรบือ ตำรวจจึงไม่รับแจ้งความ เพราะต้องการให้พูดคุยกัน แต่ขณะนี้ไม่สามารถพูดคุยกันได้แล้ว จึงเดินทางมาพบผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค4 ให้ช่วยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าวด้วย
“หลังโควิด-19ระบาด การทำมาหากินก็ลำบาก จึงได้ติดต่อกับนายคำพอง ซึ่งเป็นคนที่ครอบครัวสนิทกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว เพื่อสอบถามถึงเรื่องงานที่จะใช้รถแมคโครและงานใช้รถเกี่ยวข้าวทำงาน จนทราบว่ามีงานเกี่ยวข้าวในพื้นที่ อ.บรบือ จึงได้จ้างรถบรรทุกขนรถเกี่ยวข้าวจากจ.เพชรบูรณ์ มาทำงานที่อ.บรบือ จ.มหาสารคาม และปล่อยให้รถและลูกจ้างจัดการเกี่ยวข้าวไปตามปกติ จากนั้นตนเองก็เจอผลกระทบจากทางบริษัทไฟแนนซ์ทวงถามค่างวด แต่งานไม่มี เงินก็ไม่มี ไม่มีรายได้ จึงไปบวชชี เป็นเวลา 6 เดือน และได้ขอคำปรึกษากับนายคำพองในกรณีที่บริษัทไฟแนนซ์ทวงถามค่างวดรถแมคโครกับรถเกี่ยวข้าว
“นายคำพอง จึงบอกว่า ให้ทำเรื่องซื้อขาย เรื่องโอนกรรมสิทธิ์ และมอบอำนาจในเรื่องรถทั้งหมดให้นายคำพอง แล้วนายคำพองจะจัดการหางานทำ หาเงินส่งค่างวดรถให้ และจะส่งมอบรถคืนให้พร้อมรายได้ทั้งหมดให้ภายในสิ้นปี 2564″
นางจุฑารัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ตลอดเวลาที่ให้นายคำพองดูแลรถให้ ได้มีการติดต่อพูดคุยกันมาตลอด และในช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายคำพองจะปิดงวดรถแมคโครกับบริษัทไฟแนนซ์ จึงขอเงินมา 145,000บาท พร้อมหนังสือมอบอำนาจ จึงจัดการให้ และนายคำพองก็นำเงินไปปิดงวดจริง แต่บริษัทคิดจำนวนเงินปิดค่างวดรถเพียง 120,000บาท พร้อมมีข้อความแจ้งมาในโทรศัพท์มือถือว่ามีการชำระค่างวดและปิดยอดการชำระรถแมคโครเรียบร้อยแล้ว ก็ทำให้โล่งใจ ในขณะที่นายคำพอง ได้นำหนังสือสัญญาซื้อขาย และหนังสือมอบอำนาจที่ทำกันขึ้นมา ไปที่บริษัทไฟแนนซ์ ขอเอาสมุดทะเบียนรถแมคโคร กับบริษัท แต่บริษัทไม่ให้เพราะชื่อคนที่ทำสัญญาและเจ้าของรถคือคนเอง เมื่อบริษัทแจ้งเรื่องมาให้ทราบ จึงทำเรื่องอายัดเล่มทะเบียนไว้เช่นกัน และทำให้ทราบถึงความฉ้อโกงและการถูกนายคำพองคิดจะยักยอกเอาทรัพย์สิน จึงได้ทวงเอารถทั้งหมดคืน
“มีการติดต่อไปยังนายคำพอง เพื่อขอรถคืน ซึ่งนายคำพองขอเงินสด 300,000บาท เป็นค่าดูแล ค่าซ่อมแซมรถ จึงจะคืนรถทั้งหมดให้ จึงได้ยืมจากหนี้นอกระบบมาจ่ายให้นายคำพอง แต่ถึงเวลาจะรับรถ นายคำพองกลับไม่มารับเงินและไม่ยอมคืนรถให้ ทั้งยังเรียกร้องเงินค่ารถทั้ง 3 คัน ตามสัญญาซื้อขายที่ทำกันไว้ คือ รถเกี่ยวข้าว ราคา 1.3 ล้านบาท รถแมคโคร ราคา 1.5 ล้านบาท และรถบรรทุก6 ล้ออีก ราคาแสนกว่าบาท แต่ถ้าไม่มีตามราคาดังกล่าว นายคำพองขอเงินรวมทั้งหมดหนึ่งล้านห้าแสนบาท จึงให้ญาติพ่ออกติดตามหารถ ในพื้นที่อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ให้รถเกี่ยวข้าวจอดอยู่ในบ้านพ่อของนายคำพอง แต่ไม่เห็นรถแมคโคร จึงคิดว่าเรื่องทั้งหมดนั้น นายคำพองมีการวางแผน เพื่อยักยอกทรัพย์และกรรโชกทรัพย์ จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.บรบือ แต่ตำรวจไม่รับแจ้ง จึงตัดสินใจเดินเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค4 เพื่อขอความเป็นธรรม และขอความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว เพื่อเอารถมาทำมาหากิน หาเงินใช้หนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะหมดตัว และต้องฆ่าตัวตายหนีปัญหาดังกล่าว”
ขณะที่ ผบช.ภ.4 ได้รับเรื่องไว้พร้อมสอบถามรายละเอียดจนเป็นที่ชัดเจนแล้ว มอบหมายให้ พ.ต.อ.อรัญ รักการ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.ภ.4 สอบปากคำนางจุฑารัตน์ เพื่อจะได้พิจารณาดำเนินการส่งเรื่องไปยังท้องที่ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ตามขั้นตอนต่อไป