ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ไทยมีสมุนไพรกว่า 10,000 ชนิด โดยร้อยละ 15.5 ของชนิดสมุนไพร นำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม โดยก่อนสถานการณ์โควิดมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยขยายตัวถึง 5.2 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด สวทช.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “การยกระดับคุณภาพชีวิตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม: ด้านพืช สมุนไพร” สนับสนุนการวิจัยพัฒนา ทดสอบ สาธิต และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะนำร่องกับพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ขิง ไพล และฟ้าทะลายโจร
และเบื้องต้นมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มหาสารคามและร้อยเอ็ด ให้ความสนใจนำร่องผลิตพืชสมุนไพรจำนวน 497 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดให้นโยบาย BCG Economy เป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจฐานชีวภาพที่มีการใช้ประโยชน์จากการหมุนเวียนทรัพยากรไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับเกษตรกร โดยไม่ทอดทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง
ข้อมูลจาก : TNN ONLINE
ภาพจาก : TNN