นิสิต-น.ศ. 18 มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงประณามเจ้าหน้าที่ ใช้ความรุนแรงสลายม็อบ 28 ก.พ.
วันที่ 2 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน สภานสิต-นักศึกษา 18 มหาวิทยาลัยดัง ร่วมกันแถลงการประณามการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดังนี้
สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สภานิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ,สภานักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สภานิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา, สภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าพระนครเหนือ ,
สภานักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ,สภานักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ,สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ,สภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ,สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
ออกแถลงการณ์ เรื่อง การประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สืบเนื่องจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว (REDEM) ที่ได้มีการนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้มีการเดินขบวนไปยังบ้านพักหลวง ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
การชุมนุมดังกล่าวดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่ต่อมามีการเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้ปรากฏภาพการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไร้ซึ่งอาวุธ ทั้งการใช้กระสุนยาง การใช้รถน้ำแรงดันสูง การใช้แก๊สน้ำตา การจับกุมตัว และการทำร้ายร่างกายประชาชนที่มาร่วมชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำอันเกินกว่าเหตุ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (Guidanceon Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจสั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐไร้ซึ่งมนุษยธรรมและมิได้กระทำการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นประการสำคัญ โดยการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนชาวไทยที่ถูกบัญญัติและรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
.
ผู้แทนนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง ขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่มีความประสงค์ในการเข้าร่วมการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใต้บังคับบัญชา ไปจนถึงผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ได้สั่งการและมีส่วนร่วมกับการใช้ความรุนแรงและการกระทำที่เกินกว่าเหตุ โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม
อีกทั้งเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และขอประณามสื่อมวลชนทุกสำนักที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง อันเป็นการไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณของสื่อมวลชนเป็นสำคัญ อาจนำไปสู่การยุยง ปลุกปั่น และสร้างข่าวเท็จเพื่อให้เกิดความเกลียดชังขึ้นในหมู่ประชาชน
ผู้แทนนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง จึงขอเรียกร้องดังนี้
1.ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้หยุดการกระทำหรือการสั่งการใด ๆ อันก่อให้เกิดอันตราย อีกทั้ง ดำเนินการโดยใช้สันติวิธีและรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน
2.ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ให้ดำเนินการควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามกรอบแห่งกฎหมายโดยคำนึงถึงหลักนิติรัฐ (Legal State) หลักนิติธรรม (Rule of Law) อย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแนวปฏิบัติสากลในการควบคุมการชุมนุม ควบคู่กับการคำนึงถึง “ความเป็นมนุษย์” ในการปฏิบัติต่อประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยความเคารพ ให้เกียรติอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกัน
รวมทั้งขอเรียกร้องมิให้ผู้มีอำนาจสั่งการอ้างอำนาจรัฐเพื่อปิดกั้นกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองอีก และต้องไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องลิดรอนการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึง ไม่ดำเนินการ ใดๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการดำเนินการชุมนุมอย่างสงบ และการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธีของประชาชน
3.ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศไทย
4.ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ให้แสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับกุมตัว อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมไปถึงการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองก่อนหน้านี้โดยทันที ตามมาตรา 108/1 ที่มีการระบุถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีได้ในชั้นศาล
5.ขอเรียกร้องไปยังสื่อมวลชนทุกสำนัก ให้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าวสารสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการบิดเบือน และไม่ควรให้อำนาจภายนอกมาคุกคามการทำงานของสื่อ รวมทั้ง คำนึงถึงจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชน และเคารพต่อเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน
เป็นสำคัญ
ผู้แทนนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง ขอแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน และต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบ และขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้อีก อันจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
และขอสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ผู้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนคือเจ้าของประเทศ และอำนาจในการปกครองสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้นรัฐต้องมิใช้อำนาจเพื่อลิดรอนสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
“ไม่มีใครสมควรถูกทำร้ายหรือถูกจับกุมเพียงเพราะมีความคิดที่แตกต่าง”
ผู้แทนนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง
2 มีนาคม 2564