รัฐสภาเดินหน้าถก ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่สนวิปรัฐบาลขอเลื่อนประชุม เหตุสมาชิกรัฐสภาขาดประชุมเพราะกักตัวโควิด
พุธที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.47 น.
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุม 289 คน ขณะที่องค์ประชุมต้องมี 368 คน จึงยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งพรรค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.บางส่วนที่ต้องกักตัวดูอาการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวตำหนิสมาชิกรัฐสภาที่ไม่มาประชุม ทั้งๆ ที่เป็นการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ และขอให้ประธานตั้งกรรมการสอบสมาชิกรัฐสภาที่ไม่มาร่วมประชุม
ทั้งนี้นายชวน ได้ชี้แจงว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เป็นความต้องการของสมาชิกที่ขอไปยังรัฐบาล แล้วรัฐบาลดำเนินการให้ ทางรัฐสภาไม่มีอำนาจในการเปิดสมัยวิสามัญ
จนกระทั่งเวลา 10.03 น. การประชุมกลับมาเปิดอีกครั้งโดยมีสมาชิกเป็นองค์ประชุม 377 คน ถือว่าครบองค์ประชุม โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า ตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 เม.ย.จนเช้าวันนี้ (7เม.ย.) ตนได้รับแจ้งจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขอลาการประชุม เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาตัวเองและสังคม จึงขอกักตัว ป้องกันตัวเองและจะไปตรวจโควิด ขณะเดียวกันทราบว่าบางพรรคขอลาการประชุมยกพรรค ซึ่งในส่วนตรงนี้ขออนุญาตเลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพื่อให้กฎหมายที่จะพิจารณาต่อไปนี้มีความครบรอบ และเป็นไปตามรูปแบบของรัฐสภา
ด้านนายชวน ชี้แจงว่า เมื่อองค์ประชุมครบแล้ว ประธานก็ต้องทำหน้าที่ ไม่สามารถเลื่อนการประชุมได้ และการเปิดวิสามัญก็เป็นเรื่องที่ตกลงกัน เหตุการณ์ที่นายวิรัชพูดก็มีความจริงส่วนหนึ่ง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้โทรศัพท์มาแจ้งตนแล้วว่าขอลาการประชุม แต่สำหรับบุคคลที่ไม่ติดโควิด ก็ขอให้มาเช้าร่วมประชุม ส่วนคนที่ติดก็ไม่ต้องมาเพราะจะมีความเสี่ยงต่อเพื่อนสมาชิก และหากจะขอเลื่อนการประชุมต้องไปหารือทั้งหมดเพื่อให้เป็นมติเอกฉันท์
ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายว่า เคารพความคิดเห็นของนายวิรัช เพราะมีเหตุผลที่ดี เนื่องจากสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือภารกิจและความคาดหวังของร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับนี้ ที่สังคมรอคอย และขณะนี้ก็ครบองค์ประชุมแล้วขอให้เดินหน้าต่อ หากมีปัญหาก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง
ทั้งนี้มีความพยายามจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดยนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พยายามโน้มน้าวให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพราะหากมี ส.ส.คนใดคนหนึ่งที่มาจากพื้นที่เสี่ยงอาจทำให้ติดโควิดกันหมด แต่นายชวนวินิจฉัยไม่เลื่อนการประชุมเพราะถือว่าองค์ประชุมครบแล้ว จึงดำเนินการประชุม โดยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่ค้างอยู่ต่อทันที.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%