สธ. แจงรายละเอียดโควิดคร่าชีวิตหมอไทย ติดเชื้อจากผู้ป่วยวงกินเลี้ยงโต๊ะแชร์ ชี้ นพ.ปัญญา ป่วยโรคเรื้อรังทำอาการทรุด ติดเชื้อในกระแสเลือดซ้ำ อวัยวะทำงานล้มเหลว ชี้ เป็นอุทาหรณ์ เผย โควิดระบาดรอบใหม่ทำบุคลากร สธ.ติดเชื้อแล้ว 36 ราย
พฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17.08 น.
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ หลังจากการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในการระบาดคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ จ.มหาสารคาม ว่า นพ.ปัญญา ป่วยเป็นโรคมะเร็งอยู่ระหว่างการรักษาต่อเนื่อง มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ถุงลมโป่งพอง จากประวัติมีการตรวจผู้ป่วย 3 ราย ในวันที่ 13 ม.ค. 14 ม.ค. และ 25 ม.ค. โดยไม่รู้ว่ามีการติดเชื้อฯ มาก่อน เพิ่งมาทราบในภายหลัง จากนั้นเมื่อ นพ.ปัญญา ตรวจพบเชื้อโควิด การรักษาระยะแรกอยู่ที่ รพ.มหาสารคาม เป็นไปตามมาตรฐาน มีการให้ยาแล้วอาการดีขึ้น แต่กลับมีอาการขึ้นมาอีก โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. เริ่มมีภาวะปอดอักเสบ ตับอักเสบ อาการของไตวาย ต้องฟอกเลือด
วันที่ 7 ก.พ. เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อย แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการดูแลอย่างดี แต่การทำงานของปอด ตับ ไต มีการทำงานแย่ลงเรื่อยๆ จนวันที่ 16 ก.พ. เริ่มตรวจพบการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อรา บ่งบอกว่าภูมิต้านทานไม่ดี ทำให้ปอดทำงานแย่ลง ระบบหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในวันที่ 18 ก.พ. เวลา 01.00 น. ทั้งนี้ ทีมแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ ระบบหลอดเลือดล้มเหลว และนำมาสู่การเสียชีวิต
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้กับประชาชน และบุคลากรการแพทย์ได้ คือปกติ นพ.ปัญญา ทำงานจะใส่หน้ากาก พร้อมกับเฟซชิลด์ แต่เนื่องจากผู้ป่วย 1 ใน 3 ราย มีไข้หลายวัน หมอจึงทุ่มเทการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยอ้าปาก เพื่อตรวจดูการอักเสบในลำคอ มีการส่งเสียงร้อง ออกเสียงอา เพื่อดูการเคลื่อนไหวของลิ้นไก่ และลำคอ และให้หายใจแรงๆ เพื่อดูการขยับ ฟังเสียปอดว่ามีการอักเสบหรือไม่ จึงเชื่อได้ว่าอาจจะมีละอองฝอย น้ำลายของผู้ป่วยที่วันนั้นมีเชื้อแล้ว มีการสัมผัสหรือแทรกซึมไปยังรอยต่อของหน้ากากที่สวม ดังนั้นนี่เป็นอุทาหรณ์ให้บุคลากรการแพทย์ไม่ว่าจะปฏิบัติงานที่ไหน ต้องระมัดระวังตัว และสวมเครื่องป้องกันอย่างดี ทั้งหน้ากาก เฟซชิลด์ ถุงมือ เสร็จแล้วถอดกำจัดตามมาตรฐาน และทำความสะอาดร่างกายอย่างดี
ถ้าเป็นคลินิกหรือสถานที่แคบๆ มีการตรวจเป็นประจำ การเว้นระยะห่าง ระบบถ่ายเทอากาศสำคัญมาก และส่วนสำคัญ คนมีโรคประจำตัว เรื้อรัง มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดจะมีความเสี่ยงทำให้ภูมิต้านทานลดต้องระวัง งดไปที่ชุมชน ต้องล้างมือ สวมหน้ากากประจำ ถ้าเจ็บป่วยจำเป็นต้องไปสถานพยาบาลขอให้สวมหน้ากาก และให้ประวัติอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การวินิจฉัยโรคง่ายขึ้น และเพื่อให้เกิดการระมัดระวังตัวด้วย
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองกระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัว ทั้งนี้ นพ.ปัญญา อายุ 66 ปี เป็นแพทย์เกษียณอายุ เป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 9,964 ของไทย ติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อที่มาจากวงกินเลี้ยงโต๊ะแชร์ เสียชีวิตวันที่ 18 ก.พ. และจะรายงานเข้าระบบในวันที่ 19 ก.พ.นี้ สำหรับสถานการณ์จังหวัดมหาสารคาม ที่พบการติดเชื้อโควิดในกลุ่มก้อนวงเลี้ยงแชร์ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ ยังพบการติดเชื้อในรุ่นถัดๆ มา วันนี้พบติดเชื้อเพิ่มอีก 1 ราย เป็นภรรยาที่ติดเชื้อจากสามีที่ไปร่วมโต๊ะแชร์ดังกล่าว โดยรวมยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่มก้อนนี้ 20 คน
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการระบาดของโควิด–19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.–18 ก.พ. พบบุคลากรสาธารณสุขติเชื้อรวม 36 ราย โดย นพ.ปัญญา เป็นรายแรกที่เสียชีวิต ทั้งนี้ในจำนวน 36 รายนั้นอายุเฉลี่ย 36 ปี ต่ำสุดเป็นนักศึกษาแพทย์อายุ 21 ปี มากที่สุดเป็นบุคลากรการแพทย์ที่เกษียณแล้ว อายุ 70 ปี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามกลุ่มวิชาชีพพบว่า เป็นแพทย์ 4 ราย ทันตแพทย์ 1 ราย พยาบาล 9 ราย ผู้ช่วยพยาบาล 1 ราย เภสัชกร 3 ราย นักเทคนิคการแพทย์ 1 ราย นักเทคนิครังสี/ผู้ช่วยเทคนิครังสี 2 ราย นักกายภาพบำบัด 1 ราย นักศึกษาแพทย์ 1 ราย เจ้าหน้าที่ Back office 4 ราย พนักงานเวรเปล 1 ราย และ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ 8 ราย เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดพบว่าอยู่ที่ กทม. 12 ราย สมุทรสาคร 12 ราย นนทบุรี 3 ราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี ตาก ปทุมธานี ราชบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย
“ทั้งหมดมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนป่วยในครอบครัว และที่โรงพยาบาลด้วย ล่าสุดที่ปทุมธานี ที่มีนักศึกษาแพทย์ติดจากผู้ป่วย ที่เข้ารับการรักษาและหมอก็ไปตรวจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคนไข้มาด้วยประวัติ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แล้ว นศ.แพทย์เข้าไปตรวจ ระหว่างนั้นผู้ป่วยไม่ได้สวมหน้ากาก มีอาการไอด้วย โอกาสติดเชื้อจึงค่อนข้างง่าย เพราะบุคลากรเวลาตรวจจะอยู่ใกล้ชิด ถือเป็นความเสี่ยงสูง ดังนั้นขอให้ผู้ป่วย แม้จะมาด้วยโรคอื่น และญาติๆ ที่ไป รพ.หรือสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนขอให้มีการสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และแจ้งประวัติว่ามีการไปพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการระบาด” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า คนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวขอให้เลี่ยงการไปสถานที่เสี่ยงที่มีคนจำนวนมาก.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
100%
-
ไม่เห็นด้วย
0%