ประเด็นเด็ด 7 สี – สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ เริ่มส่อเค้าวิกฤตตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ปัญหาหมอกควันภาคเหนือยังหนัก ภาพถ่ายดาวเทียม พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 848 จุด โดยภาคเหนือพบมากที่สุด คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ระดับน้ำในแม่น้ำยมลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเห็นสันดอนทรายก้นแม่น้ำ โดยเฉพาะหน้าประตูเขื่อนไฮดรอลิก ส่อเค้าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรง เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลัก แต่แห้งขอดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ไม่มีน้ำต้นทุนในการกักเก็บ
ขณะที่จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากภัยแล้งทำให้เขื่อนวังยาง ต้องเร่งระบายน้ำให้เกษตรกรได้ทำนาปรังกว่า 10,000 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำรถกระจายเสียงให้ความรู้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า เนื่องจากปริมาณน้ำมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ด้วย
ด้านสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดอ่างทอง ปีนี้ถือว่าแล้งที่สุดในรอบ 10 ปี น้ำในคลองชลประทานในพื้นที่ ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอวิเศษชัยชาญ แห้งขอดเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร นานกว่า 3 เดือน จนชาวบ้านใช้เป็นสนามออกกำลังกาย ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ข้อมูลของศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคกลาง (สำนักงานชลประทานที่ 12) พบว่ามีระดับน้ำน้อยที่สุดในรอบหลายสิบปี
ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียม พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 848 จุด โดยภาคเหนือพบมากที่สุด คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ แต่ที่น่าสังเกตคือประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนที่เมียนมาเป็นอันดับหนึ่ง 5,268 จุด จากการวิเคราะห์พบว่าเป็นพืชไร่ คือข้าวโพด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาและหารือระหว่างประเทศว่าจะควบคุมการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดและการเผาพืชไร่ทางการเกษตรอย่างไร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงห้ามเผา และคาดว่าจะมีการเผาพืชไร่ในช่วงเดือนเมษายน
โดยวันนี้ (15 มี.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงก่อนหน้านี้จังหวัดเชียงใหม่มีคุณภาพอากาศค่อนข้างแย่ เนื่องจากปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ ทั้งสภาพอากาศและลม ที่หอบเอาฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา (14-15 มี.ค.) ดัชนีการระบายอากาศจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถระบายฝุ่น PM2.5 ให้มีระดับความเข้มข้นที่ลดลง แต่ยังต้องประเมินเพิ่มเติม จากแหล่งกำเนิดฝุ่นที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม