วันพุธ ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกาศให้บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อ
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมในทุกด้าน
ที่โรงแรมครอสโค ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการประชุมและแถลงข่าว การรับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ในการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจและประโยชน์ที่ประชาชนและจังหวัดบุรีรัมย์ จะได้รับจากการเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หลัง จ.บุรีรัมย์ ได้รับการประเมินจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่า จ.บุรีรัมย์มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ ในด้านการท่องเที่ยวสูง ทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม และมีองค์ประกอบครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมินพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
โดยมี นาวาอากาศเอก อธิคุณคงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ศ.ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณอาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก (สาขาวิชาภาษาไทย) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ และคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าร่วมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด
สำหรับการประชุมและการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ได้มีการนำระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์มาใช้ในการประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการศึกษาการประเมินพื้นที่ เพื่อกำหนดร่างขอบเขตพื้นที่พิเศษจังหวัดบุรีรัมย์, เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างขอบเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, การประชุมกลุ่มย่อย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ และความต้องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการระดมความคิดเห็นการประเมินความพร้อมของภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษจังหวัดบุรีรัมย์
นาวาอากาศเอกอธิคุณ เปิดเผยว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่โดดเด่น และเหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะเป็นพื้นที่พิเศษได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ คุณค่าด้านแหล่งท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ด้านนี้จะเห็นได้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวกับอารยธรรมขอม รวมถึงนำวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าไหม การปลูกข้าว ฯลฯ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน มาผสมผสานกับการท่องเที่ยวได้อย่างลงตัว ด้านที่ 2 คือการบริหารจัดการกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว มีการบริหารจัดการดี ไม่ว่าจะเป็นที่พักสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจ และด้านที่ 3 คือ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องเร่งปกป้อง และเป็นเมืองต้นแบบพื้นที่พิเศษแห่งอารยธรรมอีสานใต้ จากนั้น อพท. จะพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา, สุรินทร์, ศรีสะเกษและอุบลราชธานี เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวต่อไป
ด้าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า การที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้เป็นอันดับ 1 ของการประเมินศักยภาพและความเหมาะสมในการประกาศพื้นที่พิเศษ จะส่งผลให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายภายในจังหวัด ซึ่งประชาชนในพื้นที่ทุกพื้นที่ที่มีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการกระจายความรู้ด้านการดำเนินการต่างๆ ที่อาศัยเรื่องการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน