การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์หม่อนไหมขาดช่องทางขายสินค้า ลูกค้าต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ได้ สุดท้ายผ้าไหมที่อุตส่าห์ทอมือมานับแรมเดือน…ไม่ได้ออกจากตู้โชว์
ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมจัดกิจกรรมขึ้นหลายงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประชาสัมพันธ์ถึงผลิตภัณฑ์หม่อนไหมไทย เพิ่มช่องทางการตลาด พยุงเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตินี้
ปลายปีที่แล้วจัดงาน “ไหมไทยสู่เส้นทางไหมโลก” ร่วมกับมูลนิธิช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ จำนวน 72 แห่ง และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 28 แห่ง
เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ที่ทรงส่งเสริมและสนับสนุนผ้าไหมไทย และทรงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า เป็นอาชีพจนทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
แต่ติดปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถเชิญดีไซเนอร์ระดับโลกเข้าร่วมออกแบบตัดเย็บชุดผ้าไหมให้กับคณะทูตานุทูต กงสุลใหญ่ และกงสุลกิตติมศักดิ์ เพื่อใช้เดินแบบในงานกาล่าแฟชั่นผ้าไหมได้
กรมหม่อนไหมจึงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสให้นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษาด้านการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอทั่วประเทศจาก 70 แห่ง เป็นผู้ออกแบบและตัดเย็บชุดเสื้อผ้าแทน
ภายใต้ชื่องาน การประกวดการออกแบบชุดผ้าไหม The 2nd Next Big Silky Designer Contest มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 157 ทีม 193 ชิ้นงาน ผลงานจำนวนหนึ่งถูกใช้ในงานกาล่าแฟชั่น
วันนี้ผลการประกวดออกมาแล้ว ผลปรากฏว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา คว้ารางวัล ชนะเลิศ ได้รับโล่จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 4 ได้แก่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับโล่พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท
รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล…วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา และมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท.
สะ–เล–เต