วันอาทิตย์ ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 13.39 น.
กลัวไม่ได้หย่อนบัตร! ‘ยุทธพงศ์’ ออกตัวเคลมล่วงหน้า ลั่น 2565 ปีแห่งการเลือกตั้ง จี้รัฐบาลเร่งจัดเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เชื่อกฎหมายลูกเสร็จกรกฎาคมนี้ เข้าโหมดใหญ่แน่
26 ธันวาคม 2564 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เนื่องจากเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหนังสือด่วนที่สุด เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กทม. และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้วในเดือนพฤษภาคม 2561 พร้อมต่ออายุโดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นอกจากนี้ยังระบุถึงความพร้อมของ มท. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มีความพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อบต. ผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา จึงแสดงให้เห็นว่า มท. และ กกต. มีการหารือถึงความพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และเสนอ ครม.เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ครม.ต้องรีบเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.โดยเร่งด่วน เพราะไม่มีเหตุผลที่ไม่จัดการเลือกตั้ง เพราะ มท. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปแล้วและยืนยันว่ามีพร้อมในจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
“ขณะนี้มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ , นางรสนา โตสิตระกูล , พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และนายสกลธี ภัททิยกุล ที่จะลงผู้ว่าฯกทม. และทยอยเปิดตัวตั้งแต่ปลายปีนี้ เชื่อว่าปีหน้าต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แน่นอน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันปี 2565 จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากมีการแก้รัฐธรรมนูญ กรณีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.แบ่งเขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงเสนอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งได้มีการเสนอไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้าสภาฯ คาดว่านำเข้าสภาฯในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯปลาย เนื่องจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกไทม์ไลน์กฎหมายลูกไว้ว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ครบ 8 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงวิเคราะห์ว่าจะมีความพยายามดึงกฎหมายลูกให้ช้า ก่อนในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จะเกิดอุบัติเหตุการเมือง จนนายกฯไปไม่รอด
นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก หลังยึดอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะครบวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่านายกฯดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ และมาตรา 264 วรรคหนึ่งให้ครม.ที่ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จนกว่า ครม.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งตีความตามนัยยะได้ว่าต้องนับการอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช.ในเดือนสิงหาคม 2557 นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 แต่ไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินใหม่ เพราะเป็นนายกฯต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557
อย่างไรก็ตาม ในสภาฯมีการเกิดสภาฯล่มอยู่บ่อยครั้ง ถามว่าหาก มีพ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 จะผ่านได้ง่ายหรือไม่ เพราะประชุมสภาฯล่มเสียงไม่เป็นเอกภาพ และสถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างสูงแสดงให้เห็นว่าขนาดไม่มีกฎหมายสำคัญสภาฯยังล่ม ถ้ากฎหมายสำคัญเข้าจะเป็นอุปสรรคให้รัฐบาลจำเป็นต้องยุบสภาฯ
-005