เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นอกจากในประเด็นที่ว่าตำรับ “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ของ “ขรัวพ่อฉิม” ซึ่งเป็นตำรับยาสุดท้ายในพระคัมภีร์ไกษย ของตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งรวบรวมสำเร็จโดยพระยาพิษณุประสาทเวช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (๑๑๔ ปีที่แล้ว) [๑]
“ให้เอามหาหิงคุ์ ๑ บาท ว่านน้ำ ๑ สลึง เจตมูลเพลิง ๒ สลึง เกลือสินเธาว์ ๒ สลึง พริกไทย ๖ สลึง การะบูร ๒ สลึง กานพลู ๑ สลึง แห้วหมู ๒ สลึง โกฐพุงปลา ๑ เฟื้อง โกฐสอ ๑ เฟื้อง ยาดำ ๑ บาท รากตองแตก ๑ บาท ดีปลี ๖ สลึง รากช้าพลู ๑ สลึง ผลกระดอม ๖ สลึง บอระเพ็ด ๒ สลึง ลูกกระวาน ๒ สลึง กระเทียม ๒ สลึง ขมิ้นอ้อย ๒ สลึง หัสดำเทศ ๑ บาท ใบสะเดา ๑ ตำลึง ตำเปนผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำส้มก็ได้ หรือส้มซ่าก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้ หรือน้ำร้อนก็ได้” [๑]
หากจะวิเคราะห์ตำรับยานี้แล้วจะเห็นได้ว่าเครื่องยามากถึง ๒๑ ชนิด รวมน้ำหนักได้ทั้งสิ้น ๒๕๓.๘๗๕ กรัม
โดย “ตัวยาที่มีน้ำหนักมากที่สุด” หรือหมายถึงตัวยาที่ให้ความสำคัญมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ “ใบสะเดา ๑ ตำลึง” เพียงตัวเดียวใช้น้ำหนักยาประมาณ ๖๐ กรัม
กลุ่ม “เครื่องยาที่มีน้ำหนักรองลงมาเป็นอันดับสอง” มีน้ำหนักยา ๖ สลึง หรือประมาณ ๒๒.๕ กรัมต่อ ๑ ตัวยา มีทั้งสิ้น ๓ ตัวยา ได้แก่ ผลกระดอม, พริกไทย, และ ดีปลี น้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๖๗.๕ กรัม
กลุ่ม “เครื่องยาที่มีน้ำหนักรองลงมาเป็นอันดับที่สาม” มีน้ำหนักยา ๑ บาท หรือ ๑๕ กรัมต่อ ๑ ตัวยา มีทั้งสิ้น ๔ ตัวยา ได้แก่ มหาหิงคุ์, ยาดำ, รากตองแตก, และหัสดำเทศ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๖๐ กรัม
กลุ่ม “เครื่องยาที่มีน้ำหนักรองลงมาเป็นอันดับที่สี่” มีน้ำหนักยา ๒ สลึง หรือ ๗.๕ กรัมต่อ ๑ ตัวยา มีทั้งสิ้น ๗ ตัวยา ได้แก่ เจตมูลเพลิง, เกลือสินเธาว์, การะบูร, บอระเพ็ด, ลูกกระวาน, กระเทียม, และขมิ้นอ้อย น้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๕๒.๕ กรัม
กลุ่ม “เครื่องยาที่มีน้ำหนักรองลงมาเป็นอันดับที่ห้า” คือ ๑ สลึงหรือ ๓.๗๕ กรัมต่อ ๑ ตัวยา มีทั้งสิ้น ๓ ตัวยา ได้แก่ กานพลู, แห้วหมู, และรากช้าพลู, น้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๑๑.๒๕ กรัม
กลุ่ม “เครื่องยาที่มีน้ำหนักรองลงมาเป็นอันดับที่หก” คือ ๑ เฟื้อง หรือ ๐.๘๗๕ กรัมต่อ ๑ ตัวยา มีทั้งสิ้น ๓ ตัวยา ได้แก่ ว่านน้ำ, โกฐพุงปลา, และโกฐสอ, น้ำหนักรวมทั้งสิ้น ๒.๖๒๕ กรัม
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเครื่องยาทั้งหมด ๒๑ ชนิดของยาลม ๓๐๐ จำพวก โดยพิจารณาจากน้ำหนักของสมุนไพรแต่ละตัวและรสยาที่ได้ ก็จะพบว่า ยาลม ๓๐๐ จำพวก ได้แก่รสยาหลักคือ “รสขม รสเผ็ดร้อน รสฝาด รสเมาเบื่อ รสจืด รสเค็ม”
รสยาในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ ยังคงอยู่ในหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกับ “รสยาสำหรับผู้สูงวัย” ที่เป็นโรคเพื่อลมกำเริบ (สมุฏฐานวาโย) มีอาโป (ธาตุน้ำ)แทรก ที่กำหนดให้ใช้ยา “รสขม, รสร้อน, รสเค็ม, รสฝาด และรสหอมเย็น” [๒]
“รสขม” มีสัดส่วนน้ำหนักในเครื่องยามากที่สุด มากถึง ร้อยละ ๔๕.๑๔๓
“รสเผ็ดร้อน” เป็นรสยาที่มีสัดส่วนในเครื่องยารองลงมาอันดับที่สอง ร้อยละ ๓๖.๙๗๖
“รสฝาด” เป็นรสยาที่มีสัดส่วนในเครื่องยาเป็นอันดับที่สาม ร้อยละ ๗.๒๖๕
“รสเมาเบื่อ” เป็นรสยาที่มีสัดส่วนในเครื่องยาเป็นอันดับที่สี่ ร้อยละ ๔.๗๒๕
“รสจืด” เป็นรสยาที่มีสัดส่วนในเครื่องยาเป็นอันดับที่ห้า ร้อยละ ๒.๙๕๖
“รสเค็ม” เป็นรสยาที่มีสัดส่วนในเครื่องยาเป็นอันดับที่หก ร้อยละ ๒.๙๕
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารสยาดังกล่าวนี้เป็นรสยาที่มี “รสขม” นำ และมี “รสเผ็ดร้อน” ตาม เฉพาะรสยา ๒ กลุ่มนี้ ก็มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ ๘๒.๑๑๙ คือทั้งขมทั้งเผ็ดร้อน จึงอาจจะไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีความสามารถในการรับประทานยาอายุวัฒนะขนานนี้ได้
จึงเสมือนว่ายาตำรับนี้ไม่เพียงคนจะเป็นฝ่ายเลือกตำรับยานี้รับประทานยานี้เท่านั้น แต่ยาตำรับนี้ก็ต้องเลือกคนที่จะรับประทานด้วย จึงจะสามารถรับประทานยาได้ต่อเนื่องได้สำเร็จถึง ๙ เดือน โดยไม่มีการเว้นเลยแม้แต่วันเดียว
หากพิจารณาตามผลการศึกษารสยาที่มีผลต่อการจำแนกกลุ่มยารสประธานโดย ดร.ธนัชพร นุตมากุล คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฉบับที่ ๑ ไตรมาสแรก ๑ มกราคม-เมษายน ๒๕๖๓ ซึ่งได้สรุปเอาไว้จากการสำรวจเครื่องยารสประทานในตำรับยาต่างๆว่า
ยารสเย็น (ตํารับยาในกลุ่มยา แก้ไข้) มีสัดส่วนของรสขมมากที่สุดในตํารับ โดยมี สัดส่วนค่าเฉลี่ยร้อยละ ๓๗.๖๓ ± ๑๗.๒๑ รองลงมา คือ รสจืด มี ค่าเฉลี่ยร้อยละ ๒๑.๙๑ ± ๒๓.๑๙ และรสเผ็ดร้อน มีค่าเฉลี่ย ๑๓.๕๒ ± ๑๕.๕๓ ตามลำดับ [๓]
ในขณะที่ “รสประธานของ ยาลม ๓๐๐ จำพวกไม่ใช่ยารสเย็น” เหตุด้วยเพราะแม้ว่าจะมีสัดส่วนยารสขมมากในสัดส่วนร้อยละ ๔๕.๑๔๓ เข้าเกณฑ์เป็นยารสเย็น (รสขมอยู่ระหว่างร้อยละ ๒๐.๔๒ – ๕๔.๘๔) โดยรสจืดมีสัดส่วนเพียง ๒.๙๕๖ ซึ่งน้อยเกินไป ในขณะเดียวกันสัดส่วนของรสเผ็ดร้อนก็มีมากถึง ๓๖.๙๗๖ มากกว่าสัดส่วนยารสเผ็ดร้อนสูงสุดต้องไม่เกินร้อยละ ๒๙.๐๕ จึงย่อมแสดงว่ายาลม ๓๐๐ จำพวก ไม่จัดอยู่ในรสประธานยารสเย็น
ยารสสุขุม (ส่วนใหญ่อยู่ตำรับยาในกลุ่มยาหอม) มีสัดส่วนของรสขมมากท่ีสุดค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๓๐.๒๗ ± ๘.๑๑ รองลงมาคือรสเผ็ดร้อน ๒๔.๐๒ ± ๖.๕๕ และตามด้วยรสหอมเย็น ๒๐.๕๕ ± ๖.๗๔ [๓]
ในขณะที่ “รสประธานของยาลม ๓๐๐ จำพวก คล้ายกับยารสสุขุม” ในการเรียงลำดับรสยา แต่มีรสขมในสัดส่วนมากถึง ๔๕.๑๔๓ ซึ่งมากกว่ารสสุขุม เพราะสัดส่วนของยารสขมในยารสสุขุมรวมกันไม่ควรเกินร้อยละ ๓๘.๓๘
ในขณะที่ยาลม ๓๐๐ จำพวกมีสัดส่วนเครื่องยารสเผ็ดร้อนมากถึง ๓๖.๙๗๖ ซึ่งมากกว่าสัดส่วนสูงสุดของยารสสุขุมที่ไม่ควรมียารสร้อนเกิน ๓๐.๕๗
ส่วนรสหอมเย็นในยาลม ๓๐๐ จำพวกไม่มีเลย โดยที่ยารสสุขุมที่ต้องมีรสหอมเย็นอย่างน้อยร้อยละ ๑๓.๘ ดังนั้นยาลม ๓๐๐ จำพวก จึงไม่ใช่ยาหอม แม้จะมีส่วนคล้ายยารสสุขุม แต่ออกไปทางรสเผ็ดร้อนมากกว่า
สรุปก็คือยาลม ๓๐๐ จำพวก แม้จะเรียงลำดับตัวยาคล้ายยารสสุขุม แต่กลับขมมากกว่ายารสสุขุม และเผ็ดร้อนกว่ายารสสุขุม
ยารสร้อน (ตํารับยาในกลุ่ม ยาขับลม) มีสัดส่วนของรสเผ็ดร้อนมากท่ีสุดในตํารับ โดยมีค่าเฉลี่ยคือ ๕๘.๕๖ ± ๑๔.๐๘ รองลงมา คือ รสขม มีค่าเฉลี่ย ๑๗.๗๑ ± ๑๐.๐๙ [๓]
เมื่อเปรียบเทียบกับตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก ก็ไม่ร้อนเหมือนยาขับลมทั่วไป เพราะยารสเผ็ดร้อนของยาลม ๓๐๐ จำพวก มีเพียงสัดส่วนยารสร้อนเพียงร้อยละ ๓๖.๙๗๖ ซึ่งน้อยกว่าขั้นต่ำสุดของยารสร้อนที่ต้องมียารสเผ็ดร้อนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๔.๔๘
ในขณะที่รสขมของยาลม ๓๐๐ จำพวกนั้นมีมากถึงร้อยละ ๔๕.๑๔๓ ซึ่งมากเกินกว่าปริมาณสูงสุดของยารสขมในรสประธานยารสร้อน ที่ไม่ควรมียารสขมสูงสุดเกินกว่าร้อยละ ๒๗.๘
ดังนั้นยาลม ๓๐๐ จำพวกจึงเป็นส่วนผสมระหว่าง “ยารสขม”ในระดับยาเย็น แต่ในทางตรงกันข้ามก็มี “ยารสเผ็ดร้อน”ในสัดส่วนที่เกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นยารสเย็นหรือยารสสุขุม ในขณะเดียวกันในยารสร้อนของยาลม ๓๐๐ จำพวก สัดส่วนไม่ร้อนไปกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นยารสร้อนเช่นเดียวกัน
ดังนั้นลักษณะยาดังกล่าวนี้จึงเป็นยาที่มีรสขมนำและรสร้อนตาม แม้ในความเป็นจริงจะแสดงสัดส่วนยาข้างต้น แต่เมื่อได้ชิม “รสยา” ก็จะสัมผัสได้ทั้งความแรงในรสที่ “ขม” และ “เผ็ดร้อน” ที่แรงตั้งแต่กลิ่นและรส (ในกรณีคุณภาพเครื่องยาดี)
ดังนั้นการที่เป็นยาอายุวัฒนะโดยการรับประทานต่อเนื่องกันนานๆจนไปถึง ๙ เดือนได้นั้น ในชั้นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าก็อาจด้วยเพราะตำรับยานี้ที่ไม่ต้องการให้ยารสประธานที่ไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปที่อาจส่งผลเสียได้หากรับประทานเป็นเวลานานๆถึง ๙ เดือนได้
จากความ ๒ ตอนที่แล้ว ที่ผู้เขียนได้นำยาลม ๓๐๐ จำพวก ไปตรวจค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระทั้งในมิติการวัดความสามารถในการดูดซับอนุมูลอิสระออกซิเจน หรือ Oxygen Radical Absorbance Capacity (ORAC) และปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่ากลุ่มสารโพลีฟินอลซึ่งพบว่าตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมากในอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลที่เคยมีการรวบรวมเอาไว้ในต่างประเทศ[๔]-[๖]
ตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกจึงถูกอธิบายในฐานะยาอายุวัฒนะที่ช่วยชะลอวัยได้ ในมิติการต้านอนุมูลอิสระอันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมไปของร่างกายมนุษย์
อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้นำยาลม ๓๐๐ จำพวก ไปตรวจฤทธิ์เพิ่มเติมในการต้านอนุมูลอิสระเพื่อเทียบกับยาหอมนวโกฐ พบว่า “ยาลม ๓๐๐ จำพวกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเหนือกว่ายาหอมนวโกฐ”อย่างเทียบไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตามยาที่มีรสขมนำ โดยยารสเผ็ดร้อนตามนั้น อย่างน้อยก็เป็นการแก้ผลข้างเคียง (แสลง)ซึ่งกันและกันได้
ด้านหนึ่งยารสเผ็ดร้อนก็เพื่อแก้ผลข้างเคียง(แสลง)ในการรับประทานยารสขม ในขณะเดียวกันยารสขมก็ช่วยแก้ผลข้างเคียง (แสลง)อันเนื่องมาจากการรับประทานยารสเผ็ดร้อนเช่นกัน ดังปรากฏคำอธิบายในรสยา ๙ รสในส่วนของยารสขม และรสเผ็ดร้อนความว่า
“รสขม” สรรพคุณ แก้ในทางโลหิตและดี แก้กำเดา แก้ไข้ต่างๆ เช่น ไข้ตัวร้อน ไข้จับสั่น บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร
แต่ยารสขม แสลงกับโรคหัวใจพิการ โรคลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ
“รสเผ็ดร้อน”สรรพคุณ แก้โรคลมจุกเสียด ขับลมจุกเสียด ขับลมให้ผายหรือเรอ บำรุงเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร
แต่ยารสเผ็ดร้อน แสลงกับโรค ไข้ตัวร้อน เพ้อคลั่ง [๗]
สำหรับ “รสขม”(Bitterness) ที่แก้ทาง “ดี” และ “โลหิต”นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เขียนตำราเภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓ อธิบายเอาไว้ในส่วนของ “รสขม”เอาไว้ว่า
“ดี”ในทางการแพทย์แผนไทยแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ดีในฝัก (พัทธะปิตตะ) และดีนอกฝัก (อพัทธปิตตะ) ทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน ทำให้เกิดความร้อน ความอบอุ่นของร่างกาย เมื่อพิการอาจทำให้ขึ้งโกรธ สะดุ้งตกใจ หวาดกลัว หาสติไม่ได้ เป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
สำหรับ “โลหิต” เมื่อพิการจะทำให้ร้อน เพ้อ เป็นไข้กำเดา ปวดศีรษะ ตาแดงเป็นสายโลหิต มึนงงศีรษะ หน้าผากแห้ง ถ้าโลหิตแตกกระจายซ่านออกผิวหนัง ผุดขึ้นเป็นวงแดง วงเขียว วงเหลืองตามผิวหนัง ให้ลิ้นกระด้าง คางแข็ง เรียกว่าเป็นไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้กาฬ
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า “ดี” และ “โลหิต” เมื่อพิการจะทำให้เกิดอาการคล้ายกันคือ มีไข้ ปวดศีรษะ เพ้อ ถ้าไข้จากดีพิการอาจมีตัวเหลือง ตาเหลืองร่วมด้วย ถ้าไข้จากโลหิตพิการอาจทำให้มีการแตกออกทางผิวหนัง ผุดขึ้นเป็นวงแดง วงเขียว วงเหลืองร่วมด้วย ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถใช้สมุนไพรที่มีรสขมรักษาได้
คัมภีร์วโรโยคสารกล่าวไว้ว่าสมุนไพรที่มี “รสขม” จะทำให้ “ลมกำเริบ”ด้วยเหตุนี่สมุนไพรรสขมจึงแสลงกับโรคหัวใจพิการ โรคลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ” [๘]-[๙]
“โดยสมุนไพรรสขมส่วนใหญ่จะทำให้ร่างกายเย็น ซึ่งเมื่อร่างกายเย็นจะทำให้การทำงานของหัวใจและการไหลเวียนของโลหิตหรือลมทำงานไม่สะดวก รสขมอย่างเดียวจึงไม่เหมาะกับคนที่มีปัญหาหัวใจพิการ เช่นเดียวกับในระบบทางเดินอาหารทำงานไม่สะดวกเนื่องจากสมุนไพรรสเย็นมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อขึ้นได้ ดังนั้นในการให้ยารสเย็นจัด จะต้องระมัดระวังเรื่องการทำงานของลมในหัวใจและทางเดินอาหารด้วย”[๘]
ในทางตรงกันข้าม รสเผ็ดร้อน (Spiciness) นั้น มักมีสารประกอบประเภทน้ำมันหอมระเหย ซึ่งสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย จะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อักเสบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ทำให้เกิดการบีบตัวของทางเดินอาหารปกติ กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย แก้ปวดกล้ามเนื้อ ตัวอย่างสารที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น
“สารกลุ่มเทอปีนอยด์ได้แก่ camphor, anethole, carvone, linalool, fine ole, pinene, terpineol, thymol, critical สารกลุ่ม phenylpropanoids ได้แก่ cinnamic acid, eugenol สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ capsaicin จากพริก, Pepperine จากพริกไทย สารที่มีซัลเฟอร์ในโมเลกุล ได้แก่ alicia ในกระเทียม
สมุนไพรรสร้อนมีคุณสมบัติเด่นที่สำคัญคือ บำรุงไฟธาตุ จะทำให้ร่างกายมีความร้อนมากขึ้น ซึ่งจะต้องระวังในการใช้ยารสร้อนในกรณีที่มีไข้ จะทำให้ไข้กำเริบมากขึ้นได้” [๑๐]
ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งรสขมและรสเผ็ดร้อนต่างสามารถบรรเทาผลข้างเคียงซึ่งกันและกันได้
อย่างไรก็ตามเมื่อนำสมุนไพรแต่ละตัวซึ่งเป็นเครื่องยาในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกมาพิจารณาในมิติเรื่องสรรพคุณเภสัชตามภาพตารางประกอบบทความนี้ จะพบว่าตำรับยานี้ช่วยในการบำรุงธาตุ บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิต ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ขับถ่ายระบายพิษ ช่วยย่อยอาหาร และนำไปสู่การเจริญอาหารในขณะอีกด้านหนึ่งก็ช่วยเรื่องโรคทางเสมหะในระบบทางเดินหายใจด้วย
โดยสมุนไพรตำรับ ยาลม ๓๐๐ จำพวก นี้แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มยารสร้อน ขับลมในทางเดินอาหารและชับลมในเส้น
กลุ่มยาระบาย เพื่อขับถ่ายพิษในระบบทางเดินอาหาร และขับถ่ายระบายเสมหะ
กลุ่มยารสขม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหารพวกไขมัน
โดยประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลการใช้ในคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกในรอบ ๓ ปีที่ผ่านมา พบว่าช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเคลื่อนตัวดีขึ้น ลดลมในทางเดินอาหารให้น้อยลง ลดเสมหะให้ผู้สูงวัยอย่างเห็นได้ชัด เป็นยาระบาย ระบบการไหลเวียนดีขึ้น ทำให้ร่างกายอุ่นขึ้น การเผาผลาญอาหารดีขึ้น มือเท้าเย็นน้อยลง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นต่อตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกว่า
“ยานี้แก้ลมกองหยาบ ไม่ใช่ลมกองละเอียด โดยสมุนไพรในตำรับยานี้แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มรสร้อนขับลมในทางเดินอาหารและในเส้น กลุ่มยาระบาย และกลุ่มรสขม
รสขมในตำรับนี้ สมุนไพรรสขมจะไม่ใช้เพื่อแก้ไข้ แต่ใช้ “บำรุงธาตุ”ช่วยย่อยขับน้ำดี ช่วยย่อยอาหารพวกไขมัน
สรรพคุณโดยรวมจึงคล้ายกับยากษัยเส้น การทำงานของท่างเดินอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น”[๑๑]
ดังนั้นหากสรรพคุณยาดังกล่าวดังที่ปรากฏนี้ หากจะได้มีการใช้หัตถการด้วยการนวดและกดจุดในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ร่วมด้วย ย่อมจะมีประสิทธิผลในการคลายเส้นมากขึ้นไปอีก
ดังนั้นตำรับยานี้จึงระบุสรรพคุณในเรื่องเสียงที่ดีขึ้น (เปรียบเทียบดัง จั๊กจั่น นกการะเวก หงษ์ทองในถ้ำคูหาสวรรค์) นั้นก็น่าจะเป็นเรื่องการแก้โรคทางเสมหะ (ทั้งเสมหะในคอ เสมหะในอก และอุจจาระเสมหะ) ในขณะเดียวกันเมื่อขับถ่ายระบายพิษ ขับลมออก เพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และทำให้ร่างกายขับเคลื่อนทางเดินอาหารเป็นปกติ เมื่อบำรุงนำ้ดีและโลหิตอันทำให้สุขภาพในระบบทางเดินอาหารดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น และบำรุงธาตุ โดยเฉพาะการต้านอนุมูลอิสระในระดับสูงนั้น อาจจะนำไปสู่การมีความจำและสารสื่อประสาทจากลำไส้ไปสู่สมองที่ดีขึ้น ให้กลายเป็นเป็นยาอายุวัฒนะต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[๑] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๗๕๐-๗๕๑
[๒] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๖๔ หน้า, จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม หน้า ๘๔
[๓] ธนัชพร นุตมากุล, รสยาที่มีผลต่อการจําแนกกลุ่มยารสประธาน: การวิเคราะห์การจําแนก, วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2563, หน้า ๑๓๕-๑๔๕
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JTTAM/article/download/241895/164539/
[๔] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก, Fanpage ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔, และ MgrOnline, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4786591008067497/
https://mgronline.com/daily/detail/9640000124643
[๕] David B. Haytowitz and Seema Bhagwat, USDA Database for the Oxygen Radical Absorbance Capacity (ORAC) of Selected Foods, Release 2, Nutrient Data Laboratory, Beltsville Human Nutrition Research Center (BHNRC), Agricultural Research Service (ARS),U.S. Department of Agriculture (USDA), May 2010
[๖] J Pérez-Jiménez, V Neveu, F Vos & A Scalbert, Identification of the 100 richest dietary sources of polyphenols: an application of the Phenol-Explorer database, The European Journal of Clinical Nutrition (EJCN), Published: 03 November 2010
[๗] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๙, ๒๖๔ หน้า, จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม หน้า ๖๘
[๘] สมศักดิ์ นวลแก้ว, เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์—มหาสารคาม : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสาราม, ๒๕๖๔, ๔๖๑ หน้า, ISBN ๙๗๘-๙๗๔-๑๙-๖๐๕๖-๙ หน้า ๑๒๙-๑๓๐
[๙] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๔๖๓
[๑๐] สมศักดิ์ นวลแก้ว, เภสัชกรรมแผนไทยประยุกต์—มหาสารคาม : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสาราม, ๒๕๖๔, ๔๖๑ หน้า, ISBN ๙๗๘-๙๗๔-๑๙-๖๐๕๖-๙ หน้า ๑๓๒
[๑๑] สมศักดิ์ นวลแก้ว ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นกับ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๑๗ น.