จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19ที่ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น และพบยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส) ยกระดับปรับแผนรับมือ เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 รวมถึงได้ดำเนินการในส่วนต่างๆเพื่อดูแลให้ทุกคนปลอดภัย และร่วมเป็นกำลังใจเพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการตั้งรับกับโรคร้ายครั้งนี้ โดยได้คำนึงถึงการดูแลคนไข้ที่เข้ามารักษาให้มีความอุ่นใจ รักษาหายและส่งกลับบ้านด้วยความปลอดภัยทุกคน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกแรกจนถึงระลอก 3 ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือ โดยกำหนดนโยบายและมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยแก่ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานในการตรวจรักษาที่รัดกุม รอบคอบและปลอดภัย ซึ่งได้มีการปรับแผนรับมือตามสถานการณ์ ดังนี้
1.จัดสร้างห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุลทางการแพทย์ ด้วยงบประมาณกว่า 3,000,000 บาท เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ WHO กำหนด สามารถวินิจฉัยโรคผู้ป่วยได้อย่างหลากหลายและมีความแม่นยำ
2.ให้บริการคลินิกโรคไข้หวัดเคลื่อนที่ (Mobile ARI clinic) เพื่อลดการกระจายเชื้อและลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ แต่สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยประสานงาน และส่งรถเพื่อไปรับผู้ป่วยมารักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3.จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยปรับหอพักนิสิตเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วจำนวน 128 เตียง ทั้งนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 174 ราย และกำลังรักษา78 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 96 ราย
4.เตรียมพร้อม Home Isolation สำหรับใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไข้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว) โดยปรับหอพักนิสิต 2 หลัง ใช้หอพักเบญจมาศ (หอหญิง 33 ห้อง) และหอปาริชาติ (หอชาย 36 ห้อง) ซึ่งคนไข้จะต้องปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด มหาวิทยาลัยดูแลอาหารให้ 3 มื้อ มีปรอทวัดไข้ มีเครื่องวัดออกซิเจน มีการสื่อสารผ่านวีดีโอคอลเพื่อซักถามอาการระหว่างแพทย์กับคนไข้อย่างใกล้ชิด
5.เร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรและนิสิต โดยขอรับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ว.) เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับทุกคนอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง
6.เปิดรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากาก N95 เครื่องสกัดออกซิเจน ถุงมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับใช้ป้องกันตนเอง
ทั้งนี้ การปรับแผนรับมือดังกล่าว แม้ว่าเราจะมีเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน และมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่าย จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัย ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงและงดรวมกลุ่ม