ปศุสัตว์มหาสารคาม ประกาศให้อำเภอกันทรวิชัย 1 ตำบล กับ อำเภอวาปีปทุม 2 ตำบล เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว หลังมีการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ เร่งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังยับยั้งการระบาด
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โชคจำเริญฟาร์ม ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้ความรู้ป้องกันค้นหา โรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) ในโค-กระบือให้แก่เกษตรกรรายย่อยและกลุ่ม โดยมีสมาชิกเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ และสมาคมอนุรักษ์และพัฒนากระบือจังหวัดมหาสารคาม พร้อมขอความร่วมมือในการเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งข้อมูลที่อาจบ่งบอกการเกิดโรคในฟาร์ม หรือสงสัยการเกิดโรคทางอาการ ได้แก่ ซึม น้ำตาไหล น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร มีตุ่มนูนตามผิวหนังทั่วร่างกาย
สำหรับอาการ โรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) ในโค – กระบือ จะพบได้กับสัตว์เลี้ยงที่ไม่แข็งแรง ภูมิต้านทานต่ำ มี 3 ระยะ ระยะแรก มีไอ้ น้ำลายไหล ซึม ระยะสอง เริ่มอาการผิวหนัง เป็นตุ่ม หลอดลมแดง ปอดบวม ระยะสาม ตุ่มแตก ฝีดำ สามารถตายได้ในสัตว์เลี้ยงอ่อนแอ 5/10 เปอร์เซ็นต์ การรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่สัตว์ของเกษตรกร พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด
นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันทางปศุสัตว์อำเภอได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว 2 อำเภอ เป็นอำเภอกันทรวิชัย 1 ตำบลคือ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอวาปีปทุม 2 ตำบลคือ ตำบลขามป้อม และตำบลเสือโก้ก จึงอยากขอความร่วมมือเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยง โค-กระบือ ในการควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ เข้มงวดการควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ แหล่งรวมสัตว์ และตลาดนัดค้าสัตว์ ขอความร่วมมือจากพ่อค้าสัตว์ เกษตรกร งดการซื้อขายโค กระบือที่มาจากแหล่งที่เกิดโรค หรือจากพื้นที่ในรัศมี 50 กิโลเมตร
หากกรณีเกษตรกรนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรมีการกักแยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการ 28 วัน พร้อมทั้งกางมุ้งกันแมลงและให้ยาฆ่าแมลง เพื่อควบคุมแมลงพาหะ รวมถึงหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพราะโรคนี้ติดต่อโดยแมลงดูดเลือด และการสัมผัสกับของเหลวจากตุ่มเนื้องอกที่แตก ซึ่งหากตรวจพบฟาร์มที่สงสัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที ได้ที่ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม โทร.043-777-960 หรือ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ทั้ง 13 อำเภอ เพื่อเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนควบคุมโรคและแมลงพาหะโดยเร็ว.