เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลับมหาสารคาม (มมส) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวโน้มการลงคะแนนเสียงของคน กทม.ว่า สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หากดูพัฒนาการในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สามารถชี้ได้ว่า อาจไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างการเมืองท้องถิ่น และการเมืองในภาพใหญ่
หากจะสัมพันธ์กันก็มีเฉพาะในแง่พื้นที่ เช่น หากผู้สมัครจากพรรคการเมืองได้รับชัยชนะ อาจทำให้ได้จำนวน ส.ส.ในพื้นที่ กทม.ของพรรคการเมืองนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น แต่หากมองการเมืองในภาพใหญ่ระดับประเทศจะพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน
ย้อนกลับไปดูสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ระหว่างปี 2518-2556 จะพบว่า ในบางยุคสมัย ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ไม่ใช่คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ขณะเดียวกันก็พบว่า บางยุคที่ผู้ว่าฯกทม.อยู่ฝ่ายเดียวกัน คิดว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ครั้งนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งจะสังกัดพรรคการเมืองหรือลงในนามอิสระ ยังไม่สามารถสะท้อนการเมืองในระดับประเทศได้ หากดูจากสถิติที่ผ่านมา
“หากผู้สมัครอิสระชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. สิ่งที่พอจะสะท้อนได้ คือ เป็นตัวแทนภาพสะท้อนของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาได้ลงลึกถึงการเมืองท้องถิ่นแล้ว โดยแสดงออกผ่านการเลือกตั้งแทนการลงไปแสดงออกทางอุดมการณ์ทางการเมืองในท้องถนนผ่านการชุมนุมที่รุนแรง สะท้อนว่าคน กทม.มีพัฒนาการทางการเมืองที่ดีขึ้นแล้ว
“ในทางกลับกันหากผู้ชนะการเลือกตั้งสังกัดพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมามีการแข่งขันกันของ 2 พรรคใหญ่มาตลอด เชื่อว่าคน กทม.ย่อมเข้าใจดีว่าผู้ว่าฯกทม. ทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง โดยส่วนตัวมองว่า ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะได้น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาค ด้วยข้อจำกัดของอำนาจและหน้าที่ เพราะใน กทม.มีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านต่างๆ เช่น การจราจร
จึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ที่จะสามารถไปจัดการได้เพียงผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว ดังนั้น ผู้จะมาเป็นผู้ว่าฯกทม.ได้ ต้องสามารถประสานงานกับทุกหน่วยงาน และทุกฝ่ายการเมืองได้ รวมทั้งรองรับอารมณ์ของผู้คนในปัจจุบันได้
สิ่งที่นักการเมืองในระดับประเทศ หรือพรรคการเมืองในระดับประเทศจะนำไปถอดบทเรียนได้ คือ การที่จะต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะพัฒนาเศรษฐกิจ และกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้เกิดการจัดการตนเองได้ โดยไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา ต้องไปคิดนโยบายว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงผู้คนในแต่ละจังหวัดได้” รศ.ดร.อลงกรณ์กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่