นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม เพื่อไทย ขย่มรัฐบาลปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลั่น จ่อ ยื่นศาล รธน.วินิจฉัย ปมขัดกันซึ่งผลประโยชน์ ตาม รธน.มาตรา 186 หลังซักฟอก
วันที่ 9 ก.พ. ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พร้อม น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย และนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงภายหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามออกประกาศ กทม. ชะลอการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ออกไปอีก แทนที่จะเริ่มจัดเก็บในวันที่ 16 ก.พ.2564 นี้
โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยับยั้งการขึ้นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาวิกฤติโควิด-19 พร้อมขอให้สอบสวนกระทรวงมหาดไทย และ กทม.ว่า เหตุใด จึงไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้กระทรวงการคลังไปกู้เงินมาให้ กทม.ชำระหนี้ กับทาง บีทีเอส ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา กทม.ได้ออกประกาศให้ชะลอการขึ้นค่าโดยสายรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า กทม. ได้รับนโยบายมาจากรัฐบาลให้พิจารณา ทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศ โดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และภาระของ กทม. ให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมขนส่งทางราง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้เคยส่งหนังสือไปท้วงติงกับทาง กทม.ในเรื่องจะขึ้นค่าโดยสาร 104 บาท สายสีเขียว แต่ ผู้ว่าฯ กทม.กลับไม่สนใจ บอกว่าเรื่องนี้หน้าที่ของ กทม. และเป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกับทางกระทรวงคมนาคม ทั้งที่อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ผมจึงเห็นว่าเรื่องนี้มีความย้อนแย้งอยู่ เพราะหาก รมว.คมนาคม เป็นคนใน ครม. ซึ่งก็ถือว่า เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน จะไม่ทราบนโยบายของรัฐบาลเลยหรือ แล้วตกลง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ใช้อำนาจอะไรมาดำเนินการเรื่องทั้งหมดที่ผ่านมาในการจะขึ้นราคาค่าโดยสาร
“กทม.เป็นหนี้ในส่วนของการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนเหนือ และสายสีเขียวตอนใต้ อยู่อีกกว่า 6 หมื่นล้านบาท และหนี้สินค่าจ้างบีทีเอส วิ่งรถอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ ครม.มีมติให้กระทรวงการคลังกู้เงินให้ กทม.ยืมไปชำระหนี้ดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ กทม.ยังไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ขณะเดียวกัน รถไฟฟ้าสายสีเขียว วิ่งผ่านจุดสำคัญของกรุงเทพฯ มีกำไรอยู่แล้ว แต่เหตุใดทาง กทม. ไม่พยายามหาทางแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ยืนยันว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทย จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะเป็นเรื่องที่หลังจากอภิปรายแล้ว จะมีการยื่นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ในการขัดกันแห่งผลประโยชน์แน่” นายยุทธพงศ์ กล่าว.