13:01
|
18 กุมภาพันธ์ 2564
|
2,226
รูปข่าว : จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดในอาสาสมัคร พ.ค.นี้
รูปข่าว : จุฬาฯ เตรียมทดสอบวัคซีนโควิดในอาสาสมัคร พ.ค.นี้
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ChulaCov19 ในอาสาสมัคร เดือนพ.ค.นี้
วันนี้ (18 ก.พ.2564) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA
นายอนุทิน กล่าวว่า นี่เป็นอีกความสำเร็จการวิจัยพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของไทย สามารถผลิตได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างชาติในอนาคต นี่จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขกระตือรือล้น และดำเนินการจัดหาวัคซีนมาโดยตลอด เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมาการเจรจาจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการเจรจาต่อรองหลายครั้งกว่าจะได้รับการยินยอม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าวัคซีนของจุฬาฯ ทุกสัปดาห์
ขณะนี้ไทยมีวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส และจะะจัดสรรให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด โดยหวังว่าวัคซีนของจุฬาฯ จะช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างการนำเข้าวัคซีนในระยะต่อไป
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบวัคซีน COVID-19 ในลิงเข็มที่ 2 พบว่าลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี จึงเตรียมทดสอบในอาสาสมัครเดือน พ.ค.นี้
ขณะเดียวกันยังพบว่าสามารถเก็บวัคซีนในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 1 เดือน อยู่ระหว่างรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก และจะมีการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อทดสอบรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต เพราะเนื่องจากมีเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์พบว่าเริ่มดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน
เทคโนโลยีวัคซีน mRNA มีจุดเด่น คือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อที่ดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว