จิตวิทยา เป็นศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาในคณะจิตวิทยาที่จะได้ศึกษา เช่น เรื่องการรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) อารมณ์ บุคลิกภาพ พฤติกรรม และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คณะจิตวิทยายังสามารถประยุกต์ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว ระบบการศึกษา การจ้างงาน เป็นต้น และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต
จิตวิทยาแบ่งออกเป็นกี่สาขา?
จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา
จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการเรียนการสอนและวิธีการส่งเสริมประสิทธิภาพของการเรียนรู้โดยนำหลักทางจิตวิทยาเข้ามาประยุกต์ใช้ ทั้งในการสำรวจปัญหาด้านการศึกษา ตลอดจนสร้างหลักการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับการศึกษา
จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology)
เป็นการศึกษาโดยการนำหลักจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและรักษาปัญหาทางจิต เช่น ปัญหาการก่ออาชญากรรม การติดยาเสพติด เป็นต้น โดยจะพยายามค้นหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางจิตว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์หลักทางจิตวิทยากับการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการอยู่ร่วมกันของบุคลากรทุกระดับในสถานที่ทำงาน โดยนำความรู้ทางจิตวิทยามาใช้ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล พัฒนา การบริหาร วิจัยตลาด ฯลฯ เพราะสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจหรือบริษัทคือ ทรัพยากรมนุษย์
จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเป็นลำดับขั้น โดยเน้นทำความเข้าใจการพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของบุคคลในแต่ละช่วงวัยให้เป็นไปตามพัฒนาการ ซึ่งมักจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กและวัยรุ่น สาขานี้สามารถศึกษาต่อเฉพาะช่วงวัยได้อีก เช่น จิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น เป็นต้น
จิตวิทยาสังคม (Social Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ โดยเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น การรับรู้ การตอบสนองระหว่างบุคคล อิทธิพลของบุคคลที่มีต่อผู้อื่น ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจอิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่างที่มีผลต่อพฤติกรรม
จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยเน้นใช้วิธีการทดลองในห้องปฏิบัติการ หรือกระบวนการทดลอง เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลของพฤติกรรมมากขึ้น เช่น การทดลองเกี่ยวกับการเรียนรู้ การคล้อยตาม กาารอบรมเลี้ยงดู เป็นต้น
จิตวิทยาชุมชน
เดิมสาขาจิตวิทยาชุมชนนั้นอยู่รวมกับสาขาจิตวิทยาคลินิก แต่แยกสาขาออกมาเพื่อเป็นศึกษาในแง่ของการป้องกันอย่างละเอียดมากขึ้น สาขานี้เปรียบเสมือนจุดกึ่งกลางระหว่างจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรมและจิตวิทยาสังคม โดยการทำงานส่วนใหญ่ของสาขานี้คือการฝึกอบรม
จิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology)
ศึกษาเกี่ยวกับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้ที่มีปัญหาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของตนได้อย่างลึกซึ้งและมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยนักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้ผู้มีปัญหาได้เข้าใจปัญหาของตนอย่างชัดเจน ซึ่งนักจิตวิทยาการปรึกษาจะไม่เข้าไปบงการ แนะนำหรือแทรกแซงผู้รับคำปรึกษา เพียงแต่จะช่วยให้สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเองเท่านั้น
จิตวิทยาการแนะแนว
คล้ายกับสาขาจิตวิทยาการปรึกษา แต่จะศึกษาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาเชิงแนะแนวการศึกษา เช่น การแนะแนวเพื่อพัฒนานักเรียน การความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาได้อย่างเหมาะสม วิธีการและเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในงานแนะแนว เป็นต้น โดยส่วนใหญ่สาขานี้จะซ่อนอยู่ในคณะศึกษาศาตร์เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูหรืออาจารย์
คะแนนที่ใช้ในการสมัครสอบ
- GPAX 20%
- ONET 30%
- GAT 30 – 50%
- PAT1 0 – 20%
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
ระดับปริญญาตรี
- คณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาจิตวิทยาคลีนิค/สาขาจิตวิทยาการการปรึกษา/สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
- สาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาจิตวิทยาคลินิก/สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ/สาขาจิตวิทยาชุมชน/สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- สาขาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาจิตวิทยาคลินิก/สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สาขาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สาขาวิชาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษา/วิชาเอกจิตวิทยาคลินิกและชุมชน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- สาขาวิชาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยาพัฒนาการ/วิชาเอกจิตวิทยาการให้การปรึกษาและแนะแนว/วิชาเอกจิตวิทยาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
- สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- สาขาวิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ระดับปริญญาโท
- สาขาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ/สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาจิตวิทยาชุมชน/สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (ภาคพิเศษ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาจิตวิทยาเพื่อการพัฒนามนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน/สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ/สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สาขาจิตวิทยาการให้คําปรึกษา/สาขาจิตวิทยาการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สาขาวิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
- สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
- สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ระดับปริญญาเอก
- สาขาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- สาขาวิชาจิตวิทยาให้คำปรึกษา/สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- สาขาวิชาจิตวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
แนวทางการประกอบอาชีพ
การประกอบอาชีพ สำหรับผู้ที่จบสาขาจิตวิทยา เช่น เป็นนักจิตวิทยาตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการตรวจสอบทางจิต เป็นอาจารย์ตามโรงเรียนต่างๆ เป็นนักจิตวิทยาอุตสาหกรรม ทำงานด้านบุคคลในฝ่ายบุคคลบริษัทเอกชน งานบริการมนุษย์และสังคม เช่น แนะแนวในสถานศึกษา นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาบำบัด นักกระตุ้นพัฒนาการ หรือนอกจากนั้นนำความรู้จากคณะจิตวิทยา มาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานอื่นๆได้ เช่น นักการสื่อสาร นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์