นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และนักวิจัย ม.มหาสารคาม ค้นพบ “กระเจียวอรุณ-ช่อม่วงพิทักษ์” ในพื้นที่ภาคเหนือ จัดเป็นพืชถิ่นเดียวและเป็นพืชหายากชนิดใหม่
วันนี้ (18 ต.ค.2564) ทีมนักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย ดร.จรัญ มากน้อย ดร.ศรายุทธ รักอาชา และ ดร.วรนาถ ธรรมรงค์ นักพฤกษศาสตร์จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกับ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ค้นพบพืชสกุลขมิ้น (Curcuma L.) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) ชนิดใหม่ของโลก จากภาคเหนือของประเทศไทย จัดเป็นพืชถิ่นเดียวและเป็นพืชหายาก ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้าที่ 3910-3921 จำนวน 2 ชนิด ได้แก่
กระเจียวอรุณ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma aruna Maknoi & Saensouk คำระบุชนิด “aruna” หมายถึง สีของดอกที่มีสีเหลืองอร่ามคล้ายกับสีในช่วงรุ่งอรุณในตอนเช้า และยังมีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ที่เป็นความหมายของ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นสถานที่พบพืชชนิดนี้
การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าบริเวณเขาหินปูนใน จ.สุโขทัย ลักษณะเด่นคือ ดอกออกก่อนใบ เกือบทุกส่วนของพืชมีผิวเกลี้ยง ช่อดอกออกเป็นกระจุกติดกับพื้นดิน มีใบประดับ 6-12 อัน ใบประดับสีเขียวและดอกสีเหลือง ออกดอกในช่วงเดือน พ.ค.
ภาพ : องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ช่อม่วงพิทักษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma pitukii Maknoi, Saensouk, Rakarcha & Thammar. คำระบุชนิด “pitukii” ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้แก่นายพิทักษ์ ปัญญาจันทร์ อดีตเจ้าหน้าที่องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ที่ทำงานสนับสนุนด้านพฤกษศาสตร์มากกว่า 25 ปี และเป็นผู้พบพืชชนิดนี้ระหว่างสำรวจความหลากหลายของพรรณไม้ในภาคเหนือ
การกระจายพันธุ์เฉพาะที่ป่าผลัดใบใน จ.ลำปางและลำพูน ลักษณะเด่นคือ ดอกเกิดระหว่างซอกใบ ใบประดับมีสีม่วงอ่อนจนถึงม่วงเข้มในระยะติดดอก กลีบดอกมีสีม่วงอ่อนถึงม่วงเข้ม กลีบปากสีขาวและมีแถบสีเหลืองบริเวณกลางกลีบ ออกดอกในช่วงเดือน ส.ค. มีการใช้ประโยชน์จากท้องถิ่น โดยนำเหง้ามารักษาอาการโรคกระเพาะและบรรเทาอาการท้องอืด รวมถึงเหง้าอ่อนและดอกนำมารับประทานเป็นผัก
ภาพ : องค์การสวนพฤกษศาสตร์
พืชทั้ง 2 ชนิด ปัจจุบันจัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย มีการนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งด้านอาหาร ยาสมุนไพรและไม้ประดับ ปัจจุบันมีจำนวนประชากรน้อย เนื่องจากมีถิ่นอาศัยที่มีความจำเพาะ จึงอาจมีความเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ควรมีการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ ซึ่งในอนาคตทีมนักวิจัยมีแผนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชกรรม สารสกัดทางยา และดำเนินการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำกลับคืนถิ่นสู่ป่าธรรมชาติ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และยังมีพืชพรรณชนิดใหม่ๆ ที่รอการค้นพบอีกเป็นจำนวนมาก
อ่านข่าวอื่นๆ
ค้นพบ “ชมพูราชสิริน” พืชชนิดใหม่ของโลก
ค้นพบพืชชนิดใหม่ “ดาราพิลาส” ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวอันดามัน