หมอแนะป้องกันโรคที่ลอยมากับน้ำ รู้ก่อนป้องกันไว้ “เชื้อราที่เท้า” โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุหลายระลอกตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ราบลุ่มและริมแม่น้ำได้รับผลกระทบกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำท่วมขัง สำหรับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม) ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งสิ้น 33 อำเภอ จากการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม พบส่วนใหญ่ เป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคระบบผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน และอุจจาระร่วง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนพื้นที่เสี่ยงว่าภายหลังอิทธิพลจากพายุหลายระลอกที่พัดผ่านประเทศไทยทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่สะสม เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนที่พักอาศัยโดยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ในบางพื้นที่ระดับน้ำได้เริ่มลดลง แต่ยังพบว่าหลายอำเภอยังคงมีน้ำท่วมสูงและท่วมขังเป็นเวลาต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ระมัดระวังและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากน้ำท่วม โดยเฉพาะที่พบว่ามีแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นคือโรคน้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้า
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล กล่าวต่อว่า การเดินย่ำน้ำหรือการแช่น้ำเป็นเวลานานๆ บ่อยๆอาจทำให้เกิดโรคเชื้อราที่เท้าได้ จึงขอแนะนำประชาชนที่ประสบอุทกภัยระวังโรคน้ำกัดเท้า หรือบางคนอาจเรียกทั่วไปว่าฮ่องกงฟุต หรือโรคน้ำกัดเท้า ทางวิชาการเรียกว่า โรคเชื้อราที่เท้า ซึ่งโรคนี้เกิดจากผิวหนังโดยเฉพาะส่วนของเท้า แช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังอับชื้น เริ่มแรกผิวหนังชั้นบนสุดจะขึ้นเป็นขุยขาวๆ และยุ่ย ต่อมาจะลอกเป็นแผ่นหรือสะเก็ดแล้วแตกเป็นร่องและมีกลิ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อราที่สะสมในชั้นของผิวหนัง ถ้าแกะลอกขุยขาวๆ ที่เปียกยุ่ยออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีลักษณะแดงๆ และมีน้ำเหลืองซึม มักมีอาการคันยิบๆ ร่วมด้วย บางคนอาจลามไปที่ฝ่าเท้า หรือเล็บเท้า อาจทำให้ฝ่าเท้าลอกเป็นขุยขาวๆ หรือเป็นตุ่มพองใหญ่และคันมาก มักจะเห็นได้บริเวณซอกนิ้วเท้าและมีอาการคันถ้ามีอาการอักเสบเป็นหนองด้วย แสดงว่าอาจติดเชื้อแบคทีเรียจากการแกะ เกาผิวหนังบริเวณนั้น สำหรับคำแนะนำในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคเชื้อราที่เท้า คือรักษาผิวหนังโดยเฉพาะที่มือ เท้า ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ ส่วนการดูแลรักษาให้ใช้ยารักษากลากเกลื้อนทาบางๆในบริเวณที่เป็น ทั้งนี้ควรทายารักษาต่อเนื่องนาน 3-4 สัปดาห์ ถ้ามีน้ำเหลืองเยิ้ม ต้องใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำด่างทับทิมหรือน้ำเกลืออ่อนๆโปะจนผ้าหมาดหรือใกล้จะแห้ง ปฏิบัติเช่นนี้บ่อยๆ จนกว่าผื่นคันจะแห้ง จึงใช้ยารักษากลากเกลื้อนได้ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำที่ท่วมขัง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ควรล้างทำความสะอาดผิวหนังและเช็ดให้สะอาดและเช็ดให้แห้งทันทีที่ขึ้นจากน้ำ อาจใช้แป้งเด็กโรยที่เท้าบ้างแต่โรยบางๆก็เพียงพอ หรือใช้สารส้มถูผิวหนังบริเวณที่ต้องถูกน้ำบ่อยๆจะช่วยให้ผิวหนังบริเวณนั้นเปื่อยน้อยลง หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 1422
“ป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ล้างและเช็ดเท้าให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ”
ที่มา : สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์
สำนักสื่อสารความเสี่ยง กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จ.ขอนแก่น
หมายเลข 043 222818-9 ต่อ 237
http://odpc7.ddc.moph.go.th
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]