‘ยูเอซี’ ส่งโรงไฟฟ้าชุมชน ‘ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด’ ชี้ปี 67 พร้อมขายเชิงพาณิชย์
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติ และข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ โดยการพิจารณาการอนุมัติดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทย่อยของ UAC ทั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 3 จำกัด ที่ตั้งตำบลเมืองเปลือย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 5 จำกัด ที่ตั้งตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ได้รับพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ เป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ รวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์
นายชัชพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ โครงการของบริษัทฯ ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิครอบแรกแล้วจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วยบริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้งตำบล นาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่นและ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 4 จำกัดที่ตั้ง ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้บริษัทฯผ่านพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งหมด 4 โครงการ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 12 เมกะวัตต์ โดย UAC ยื่นประมูลไปทั้งสิ้น 6 โครงการกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 18 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ และผ่านคุณสมบัติ 4 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสาเหตุ ตามที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไปก่อนนี้ ส่วนขั้นตอนต่อไป บริษัทฯ รอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 และกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
นายชัชพล กล่าวว่า บริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีรวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าวเป็นการการันตีได้กว่า UAC เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้ จากความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการ Consul Service การออกแบบและสร้างโรงงานBiogas โดยใช้พืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง ทำให้บริษัทฯมีแผนต่อยอดทางธุรกิจ โดยแตกไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา Consult Service ให้กับผู้ประกอบการ อย่าง บมจ.ซันสวีท (SUN ) ในการดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊ส จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) ซึ่งสามารถตอบโจทย์แนวทาง Green Energy สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชนในระยะยาว เพื่อเป็นการขยายไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา บริษัทฯ จึงสบช่องทางธุรกิจ โดยเปิดกว้างรับพันธมิตรที่สนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อมาต่อยอดให้บริการ Consult Service พร้อมให้คำปรึกษากับพันธมิตรทุกราย
“บริษัทฯ มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังนั้นจึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะช่วยต่อยอดและผลักดันภาพรวมธุรกิจของ UAC เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญ” นายชัชพล กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่