ภารกิจลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ กลายเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน กองทุนบัวหลวงเองก็เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ล่าสุด กองทุนบัวหลวง มอบเงิน 1.2 แสนบาท สนับสนุนโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม ทั้งมุ่งหวังเพิ่มรายได้ให้ชุมชนเพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น อันเป็น Collaboration Platform ของภาคธุรกิจ ภาครัฐและภาคสังคม ด้วยการระดมทุนเพื่อสร้างพื้นที่ป่า สร้างสมดุลระบบนิเวศ ทำงานร่วมกับ “ธรรมชาติ” เพื่อให้การพัฒนาของมนุษย์ อยู่บนเส้นทางเดียวกับความสมดุลย์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แผนปฏิบัติงานของโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากทั้งองค์กรภาครัฐ ธุรกิจเพื่อสังคม และองค์กรเพื่อสังคมในการกำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้ ล่าสุด คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ อันประกอบด้วย คณะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพัฒนาสังคมและด้านวิชาการ ผู้แทนด้านความยั่งยืนและวิจัยพัฒนาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักจัดการ ป่าชุมชน กรมป่าไม้ส่วนกลางและภูมิภาค พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ร่วมดำเนินการ เพื่อเตรียมการปลูกต้นไม้ในช่วงฤดูปลูก (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564) รวม 30,000 ต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก 8 องค์กรภาคธุรกิจ ร่วมระดมทุนกว่า 5 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างแหล่งอาหารและฟื้นฟู ระบบนิเวศพื้นที่ป่าชุมชน 145 ไร่ ใน 5 จังหวัด ทั้งผืนป่าต้นน้ำ ภาคเหนือ (เชียงราย และน่าน) ภาคกลาง (เพชรบุรี และราชบุรี) และภาคอีสาน (มหาสารคาม)
ประกอบกับ การปลูกต้นไม้ จะช่วยสร้างผลลัพธ์ ด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kg.Co2e) / ปี (ต้นไม้ที่ปลูก 1 ต้น จะสามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 9 kg.Co2e เทียบเท่า โดยต้องเป็นต้นไม้ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งหวังการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจ และพัฒนาให้พื้นที่ปลูกป่ามีระบบนิเวศที่สมดุลได้ในอนาคต
กองทุนบัวหลวงเลือกสนับสนุนปลูกต้นไม้ รวม 3.5 ไร่ จำนวนต้นไม้ 700 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม เพราะเห็นว่า สภาพพื้นที่โดยทั่วไปแห้งแล้งมากๆ แต่ว่า มีจุดเด่นที่เอกลักษณ์ชุมชน “ใช้ผืนป่าเพาะกล้าไม้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน” สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการต่อยอดเพาะกล้าไม้ขาย และเป็นชุมชนที่รักป่า มุ่งสร้างผืนป่าด้วยกำลังของชุมชน ซึ่งไม่รอการจัดสรรงบประมาณ โดยคณะกรรมการวิสาหกิจกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน เป็นผู้ปลูกป่านี้โดยตรง ด้วยการคัดเลือกพื้นที่ปลูกป่าให้อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำประมาณ 200 เมตร โดยมีคณะทำงานของชุมชน (ผู้นำชุมชนและสมาชิก) ให้ความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลผืนป่า ตามเงื่อนไข การปลูกของโครงการ (โอกาสรอด 100% / ปลูกซ่อมเสริม / ติดตามผลการปลูกต่อเนื่อง 6 ปี / ใกล้แหล่งน้ำ / ทำแนวกันไฟ / กำจัดวัชพืช เป็นต้น) อีกทั้งชุมชน มีส่วนร่วมในการกำหนดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพนิเวศของพื้นที่ ทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถเก็บเกี่ยวเพื่อบริโภคและ เชิงพาณิชย์สร้างรายได้ชุมชน และถูกต้องตามกฏหมาย
ชุมชนบ้านหนองทิศสอน นำประสบการณ์ปลูกป่ามาใช้ในโครงการ Care the Wild โดยเตรียมพื้นที่และปลูกป่า จำนวน 200 ต้น/ไร่ ปลูกแบบคละชนิดไม้ ทั้งไม้เศรษฐกิจและไม้ผล มากกว่า 7 ชนิด ได้แก่ ยางนา พะยูง จามจุรี มะม่วงป่า มะขามเปรี้ยว ขี้เหล็ก ยางเหียง สัก แคนา ประดู่ป่า หว้า ทองกวาว ตะแบก สำหรับโครงการของ กองทุนบัวหลวง เริ่มปลูกป่าไปแล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 โดยชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาในการปลูกต้นไม้ ด้วยการใช้แนวร่อง ขุดหลุมลึกใช้วัสดุ ออร์แกนิก วางรองที่ก้นหลุม เพื่อให้อุ้มน้ำได้ดี ทั้งยังใช้ต้นไม้ที่โตหน่อย สามารถทนแล้งได้ดี เพื่อให้มีอัตรารอดตาย 90% ทั้งนี้ ช่วงประมาณ 3 ปี พบว่า ต้นไม้เติบโตสูงเฉลี่ย 115 ซม.
ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ เสนอให้ทดลองปลูกพืชกินได้ ตระกูลถั่ว ฟักทอง ในพื้นที่ปลูกป่า เพื่อให้ระบบรากสามารถเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และใช้ใบห่มคลุมป้องกันแดด เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างดี เพราะ มีความชื้นในดินสูง โดยให้ทดลองทำในพื้นที่ปลูกใหม่ ด้วยแปลงปลูกขนาด 50 ตร.ม.ต่อพื้นที่ใน 1 แปลง เพื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ปลูก จะเห็นอัตราการเติบโตต้นไม้ที่สูงกว่า 3-4 เมตรในปีเดียว
ทั้งนี้ ผลการทดลองอาจจะใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นแหล่งอาหาร และสามารถใช้คำนวณผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าและคุณค่าทางโภชนาการ เก็บข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมด้วย โดยพื้นที่ จ.มหาสารคาม มีความเค็มสูง อาจเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย จึงให้ศึกษาจากผู้รู้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งในมหาสารคาม มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก
ชุมชนบ้านหนองทิศสอน ร่วมปลูกไม้ให้กับกองทุนบัวหลวงได้ผืนป่าในโครงการ Care the Wild เพื่อเพิ่มพื้นที่ สีเขียวและยังช่วยปกป้องดูแลอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100% พร้อมกันนี้ กองทุนบัวหลวง ในฐานะองค์กรผู้สนับสนุนงบประมาณ และโครงการฯ จะร่วมกันติดตามประเมินผลการปลูกป่า เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี โดยทุกๆ ปี จะเฝ้าติดตามผล อาจจะลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการเติบโต อีกทั้งพูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาและสามารถต่อยอดดูแลป่าอย่างอื่นเพิ่มได้ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อันเป็นส่วนสำคัญในการร่วม “ปลูก” ไม้และเข้าใจเรื่องราวของป่าไม้ และ “ป้อง” ป่าที่ปลูก เพื่อให้ได้เติบโตจากไม้ สู่ความเป็นผืนป่าอย่างแท้จริงต่อไป