วันที่ 31 ส.ค.64 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมากว่า 3 เดือนแล้ว และฤดูฝนในปีนี้คงเหลือเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ซึ่งปกติในช่วงนี้ร่องความความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนควรพาดผ่านตอนบนของประเทศ และค่อยๆขยับลงมาทางภาคกลางและภาคใต้ตามลำดับ แต่ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในเฉพาะแหล่งน้ำที่สำคัญและเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศไทยโดยเฉพาะแหล่งน้ำที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก และพื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ยังถือว่ามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรที่ปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่อยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันในช่วงนี้ประเทศไทยก็ยังมีร่องฝนหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะพาดผ่านประเทศไทยทำให้มีปริมาณฝนที่ตกเพิ่มมากขึ้น สามารถทำให้หลายพื้นที่ได้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในระดับนึง แต่ส่วนใหญ่ตกบริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นหลักและตกในชุมชนเมืองที่ไม่มีความต้องการน้ำเพื่อทำการเกษตรหรือเพาะปลูก จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำออกที่ตามมา ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเกิดน้ำท่วมขังได้ในช่วงนี้ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับเหล่าทัพ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ ยังคงติดตามเงื่อนไขของสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน และเดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วภูมิภาคของประเทศ
โดยจากผลการปฏิบัติฝนหลวงเมื่อวานนี้ (30 ส.ค.64) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 แห่ง และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์
ส่วนด้านการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และ จ.อุตรดิตถ์
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำกระเสียว ห้วยเทียน และเขื่อนศรีนครินทร์
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร และ จ.หนองบัวลำภู
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ จ.ชัยภูมิ
สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อื่นๆ จะยังคงติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100