ศบค. พบคลัสเตอร์ใหม่ 4 แห่งใน 3 จังหวัด มีโรงงานห้องเย็น โรงงานอาหารสัตว์ บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลาดสิริบาลพัฒนา เผยหลายจังหวัดผู้ป่วยเดินทางกลับรักษาตัวภูมิลำเนา ดันยอดผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด กรมวิทยาศาสตร์รายงานพบสายพันธุ์เดลต้ากระจายเกิน 50% ในพื้นที่ 5 เขตใหญ่ในกทม. แล้ว
วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 13,002 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 410,614 ราย หายป่วยแล้ว 277,030 ราย เสียชีวิตสะสม 3,516 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 439,477 ราย หายป่วยแล้ว 304,456 ราย เสียชีวิตสะสม 3,610 ราย
สำหรับผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลวันนี้มีจำนวน 131,411 ราย โดยเป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 74,168 ราย รักษาตัวในรพ.สนาม 57,243 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 192,228,307 ราย อาการรุนแรง 81,822 ราย รักษาหายแล้ว 174,923,420 ราย และเสียชีวิต 4,133,324 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,081,719 ราย 2.อินเดีย จำนวน 31,215,142 ราย 3.บราซิล จำนวน 19,419,741 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 6,006,536 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 5,890,062 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 51 ของโลก จำนวน 439,477 ราย
สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีน ข้อมูล วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 225,061 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 32,815 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 14,805,120 โดส
“กทม. และปริมณฑลวันนี้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ก็ยังคงต้องขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล ในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้มีการณรงค์ขอให้ผู้สูงอายุได้ฉีดวัคซีนได้มากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 108 ราย ตัวเลขใหญ่อยู่ในกทม. จำนวน 40 ราย ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะเห็นตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตค่อนข้างสูงในช่วงนี้ เช่นที่สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ซึ่งเป็นส่วนของ 4 จังหวัดพื้นที่แดงเข้ม ซึ่งมีทั้งรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
ส่วนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่มใหญ่ๆที่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกยังอยู่ที่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ
10 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. มีจำนวน 2,922 รายรวมยอดสะสม 120,613 ราย สมุทรสาคร 932 ราย นนทบุรี 661 ราย สมุทรปราการ 656 ราย ชลบุรี 636 ราย ฉะเชิงเทรา 374 ราย ปทุมธานี 350 ราย ระยอง 305 ราย ปัตตานี 282 ราย อยุธยา 235 ราย (ตามตาราง)
สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการรายงาน อย่างเช่น จ.มหาสารคาม มีการรายงานกรณีมีผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันว่ามีผลเป็นบวก และเดินทางกลับภูมิลำเนา และยังมีจาก จ.อยุธยา จ.ชลบุรี กลับไปที่มหาสารคาม ทำให้เกิดการสัมผัส มีผู้ติดเชื้อร่วมบ้าน หรือ จ.กาฬสินธุ์ เป็นคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง จาก อ.วังน้อย จ.อยุธยา เดินทางกลับไป จ.กาฬสินธุ์
รวมทั้ง จ.ศรีสะเกษก็มีผู้ติดเชื้อจาก กทม.และปริมณฑล กลับไปที่ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อที่ จ.ศรีสะเกษสูงขึ้น โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการเดินทางกลับไปจาก จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.อยุธยา
หรือที่ จ.ขอนแก่น มีการรายงานผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปจาก กทม.และปริมณฑล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อที่ตลาดราชวัตร กทม. หรืออย่างที่ จ.นครราชสีมาก็มีผู้เดินทางกลับไปจาก กทม.และปริมณฑล
ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดศรีสะเกษวันนี้พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 125 ราย มหาสารคามผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 169 ราย และที่กาฬสินธุ์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 157 ราย (ตามตาราง)
“นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การที่มีการขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง กรณีผู้ติดเชื้อที่ผลเป็นบวก ขอให้ท่านเข้าสู่ระบบการรักษา ห้ามเคลื่อนย้าย เพราะสิ่งสำคัญคือการเดินทางกลับภูมิลำเนา ตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เตียงของต่างจังหวัดเริ่มเพิ่มสูง และมีความตึงตัวพอสมควร” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า
เพราะฉะนั้นหากท่านต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา กลับไปรักษาจะต้องติดต่อโรงพยาบาลปลายทางด้วย เพราะท่านอาจถูกปฏิเสธได้
ในส่วงของ กทม. วันนี้มีกราฟแสดง จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ตอนนี้เกิน 50% ในหลายจุด ซึ่ง 5 เขตหลักที่พบไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ได้แก่ เขตจตุจักร เขตบางรัก เขตจอมทอง เขตคลองเตย และเขตหลักสี่
ทำให้ กทม. ต้องพยายามพุ่งเป้า จัดทีมป้องกัน และแก้ไขปัญหาเชิงรุกในชุมชน หรือ ทีม CCRT(Comprehensive Covid-19 Response Team:CCRT) ซึ่งตรงนี้จะเป็นการเข้าไปค้นหาผู้ป่วยในชุมชนและพยายามทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด
ซึ่งรายละเอียดที่ กทม. รายงานวันนี้ สำนักอนามัย รายงานว่า ทีม CCRT ลงพื้นที่ 139 ชุมชน เป็นการเดินเท้า เคาะประตูบ้าน มีผู้ได้รับบริการทั้งสิ้น 4,583 คน ในจำนวนนี้ได้ตรวจ ATK ( Antigen test kit) ในส่วนของวันที่ 20 วันเดียว มีการตรวจไป 383 คน ในจำนวนนี้ผลพบติดเชื้อ 37 คน และ 31 คน ได้นำสู่ระบบ Home Isolation หรือแยกกักตัวที่บ้าน และมี 3 คน แยกกักตัวที่ Community Isolation หรือแยกกักในชุมชน 3 ราย และอีก 3 รายเมื่อตรวจพบว่ามีอาการอยู้ในระดับสีเหลือง ก็ refer ส่งต่อไปอยู่ รพ.อีก 3 ราย
“ตรงนี้มีรายงานเพิ่มด้วยว่า เมื่อเราพบการติดเชื้อก็มีการสอบสวนต่อไปว่า มีคนสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มคนเหล่านี้อีก 134 ราย ถึงแม้ผลจะไม่เป็นบวก แต่ก็จัดเป็นบุคคลเสี่ยงสูง ซึ่งจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านด้วย นอกจากค้นหาผู้ป่วยแล้ว ทีม CCRT ยังเข้าไปช่วยฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,070 คน รวมสะสม 17,253 ราย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
นอกจากนี้ ผอ.ศบค.ได้สั่งให้แต่ละเขตตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชนอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง บางเขตอาจตั้งได้ถึง 2 แห่ง กล่าวคือถ้า กทม. มี 50 เขต 1 เขต มี 1 ศูนย์ แต่ละศูนย์รับได้ 100 เตียง จะทำให้มีเตียงรองรับได้ 5,000 เตียง ถ้าแต่ละเขตจัดได้เขตละ 2 ศูนย์ ตัวเลขก็จะเป็นหมื่นเตียง
ซึ่งตอนนี้ กทม. มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยไปแล้ว 49 แห่ง ในพื้นที่ 47 เขต เปิดรับผู้ป่วยแล้ว 19 แห่ง รองรับได้ 5,365 เตียง
นอกจากนี้วันนี้ที่ประชุมยังมีการเพิ่มผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนให้กับหญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดด้วย สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ไปแล้ว รวมถึงการให้วัคซีนกับคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยในลำดับถัดไปด้วย
สำหรับ “คลัสเตอร์ใหม่” ในวันนี้ มีจำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด มียอดผู้ติดเชื้อรวม 164 ราย
- สมุทรสาคร อ.เมือง เป็นโรงงานห้องเย็น มีผู้ติดเชื้อ 24 ราย
- สมุทรปราการ อ.บางเสาธง โรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง พบผู้ติดเชื้อ 40 ราย
- ระยอง อ.ปลวกแดง บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า พบผู้ติดเชื้อ 92 ราย และที่ อ.แกลง ตลาดสิริภิบาลพัฒนา พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย
ในส่วนของ “คลัสเตอร์เดิม” วันนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น โดยคลัสเตอร์ โรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา พบผู้ป่วยรายใหม่อีก 37 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมคลัสเตอร์นี้ 1,063 ราย แล้ว
หรือที่ จ.ลพบุรี อ.พัฒนานิคม โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 47 ราย รวมติดเชื้อสะสม 1,219 ราย ส่วนที่อ.เมืองลพบุรี บริษัทผลิตหน้าจอมือถือ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 15 รวม รวมติดเชื้อสะสม 140 ราย
- ศบค.สั่งปิดเพิ่ม 10 กิจการ “สีแดงเข้ม” ร้านตัดผม สวนสาธารณะ ลานกีฬา