สถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ ถือได้ว่าหนักหน่วงมาก ความจริงที่เรากำลังเผชิญในตอนนี้ก็คือ หาที่ตรวจก็ไม่ได้ เตียงก็ไม่มี และ รอจนเสียชีวิตคาบ้าน
เมื่อคืนนี้ถ้าใครได้ผ่านไปทางวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน จะได้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งมากางเต๊นท์นอนอยู่บริเวณ หน้าวัด กันตั้งแต่หัวค่ำเพื่อที่จะได้รับคิวตรวจหาเชื้อ ในเวลา 8 โมงเช้า
ประชาชนจำนวนมาก เอาเสื่อ เอาเต็นท์ เอาร่มไปกาง เพื่อนอนรอคิวตรวจโควิด19 ที่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ที่ สำนักงานเขตบางเขน ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน และ สปคม. กรมควบคุมโรค ตั้งเป็นจุดตรวจคัดกรองโควิด19 เชิงรุกฟรี ตั้งแต่วันที่ 5-11 กรกฏาคม โดยเปิดตรวจในเวลา 08.00-16.00น. วันละ 900 คน
“สุทธิชัย หยุ่น” เปิดข้อมูลหมอ วิกฤตเตียงสีแดง
เปิดวงจร ปัญหาผู้ป่วยโควิด ตรวจแล็บ-หาโรงพยาบาลไม่ได้
แต่จากภาพจะเห็นได้ว่า เป็นช่วงเวลา 20.00น. ที่ประชาชนเริ่มมาจับจองพื้นที่กางเต็นท์ นอนรอหน้าวัดฯ ซึ่งลำบากมาก เพราะฝนเริ่มตกลงมาตอนประมาณ เที่ยงคืน ทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของวัด ได้เปิดให้ประชาชน เข้ามารอภายในวัดได้
ยุทธศาล แท่นนอกหนึ่งในผู้ที่มารอคิวตรวจข้ามคืน เล่าว่า เขาเดินทางมาจาก เขตบางกะปิ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 และนำเอาผลการตรวจไปยืนยันกับบริษัทเนื่องจาก มีเพื่อนร่วมงานติดเชื้อ โดยเขาเดินทางมารอตั้งแต่เวลาสามทุ่ม เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้คิว เพราะก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปตรวจหาเชื้อมาแล้ว 3 แห่งแต่ก็ยังไม่ได้รับการตรวจ ขณะที่เมื่อวานนี้ได้เดินทางมาถึงที่ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ในช่วงเวลา 04.00 น. แต่ก็ไม่ได้รับการตรวจ วันนี้จึงเดินทางมาใหม่ มารอคิวตั้งแต่ 21.00 น. โดยมั่นใจว่าครั้งนี้จะได้คิวตรวจแรกๆ
ปรากฎการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่เรียกว่า เอาไม่อยู่ ในการควบคุมการระบาด และมีโอกาสที่เราจะได้เห็นภาพอันน่าสะเทือนใจ ที่จะตาม อย่างกรณีของชายสูงอายุ เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวชื่อดัง ย่านสายไหม ที่เสียชีวิตภายในบ้านพัก หลังมีอาการป่วยมาร่วมๆ10 วัน
นี่คือภาพ ขณะที่ทีมงานเพจเฟซบุ๊กสายไหมต้องรอด นำโดยนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ช่วยส.ส.เขตสายไหม เข้าไปเก็บร่างผู้เสียชีวิตภายในบ้านพักแห่งหนึ่ง ย่านสายไหม74 ภายหลังได้รับแจ้งจากลูกสาวว่าพ่อมีอาการป่วยมาประมาณ 10 วันแล้ว เธอพยายามพาพ่อไปตรวจหาเชื้อโควิดตามโรงพยาบาลย่านสายไหม แต่ทุกโรงพยาบาลปฏิเสธการตรวจจนอาการของพ่อเริ่มทรุดหนักและเสียชีวิตภายในบ้านเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่มาหากินในกรุงเทพ หนทางสุดท้ายของพวกเขาคือ ดิ้นรนกลับบ้าน เพราะหากโชคดีก็ได้รับการรักษา แต่ถ้าโชคร้าย อย่างน้อยก็ยังได้กลับไปตายที่บ้านเกิด
เช่น ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม รายงานสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ว่าพบผู้ป่วยใหม่ 42 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยที่แจ้งขอกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา จำนวน 11 คน ส่วนใหญ่ มีประวัติ มีอาชีพอาชีพค้าขาย รับจ้างก่อสร้าง ทำงานในแคมป์คนงาน พนักงานร้านสะดวกซื้อ ขับแท็กซี่ เป็นพนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท แม่บ้านธนาคาร และ รปภ.ธนาคาร เป็นต้น
ที่น่าสลดใจ คือ มีผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง เป็นหญิง วัย 54 ปี จากอำเภอยางสีสุราช ทราบผลว่าติดโควิด จากกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างรอเตียงเข้ารับการรักษา 3-4 วัน ก่อนเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาสารคาม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 64 ซึ่งมีอาการหนัก ได้รับการรักษาเพียง 3 วัน ผู้ป่วยได้เสียชีวิต