6 มิ.ย. 64 – นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวเรื่อง”saveเงินประชาชน 7,000 ล้านบาท” เกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่ 2 สาย สายเหนือ และสายอีสาน ว่า “มีกระแสข่าวไม่ดี มีกลิ่นตุๆ ว่า อาจจะมีการเอาเงินของประชาชนไปมากกว่า 7,000 ล้านบาท ถ้าพี่น้องทุกคนช่วยกันเราจะสามารถประหยัดได้ถึง 7,000 ล้านบาท ช่วงนี้มีการประมูลแล้ว ซึ่งการจะปกป้องทุจริตคอร์รัปชัน เราต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่สูงมาก ใช้หัวจิตหัวใจร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน เชิญชวนทุกคนร่วมกันปกป้องงบประมาณพี่น้อง 7,000 ล้านบาท
ขณะนี้รถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงิน 72,920 ล้านบาท และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 55,458 ล้านบาท วงเงินรวม 2 เส้นทาง 128,000 ล้านบาท ได้มีการประมูลเสร็จสิ้นไปแล้ว
ซึ่งเงื่อนไขสายเหนือ ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 3 สัญญา ราคากลางเฉลี่ย สัญญาละ 24,306 ล้านบาท รวมอาณัติสัญญาณ และบริษัทที่จะเข้าประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟในประเทศ 15 % ของวงเงินแต่ละสัญญา
ส่วนเงื่อนไขสายอีสาน ได้แบ่งสัญญาออกเป็น 2 สัญญา ราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 27,728 ล้านบาท รวมอาณัติสัญญาณ ต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟในประเทศ 15 % ของวงเงินแต่ละสัญญา ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขสัญญารถไฟทางคู่ทั้ง 2 สาย ในลักษณะนี้ทำให้มีเอกชนทั้งประเทศเพียง 5 ราย ที่เข้าเงื่อนไขไปประมูลได้
ขณะที่ทั้ง 2 สาย ได้ซอยย่อยสัญญาออกเป็น 5 สัญญาพอดี อีกทั้งผลการประมูลสายเหนือ 3 สัญญา ราคาที่ประมูลได้เฉลี่ย 24,286 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง สัญญาละ 20 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.08% ประหยัดไป 60 ล้านบาท ส่วนผลประมูลสายอีสาน ทั้ง 2 สัญญา ราคาที่ประมูลได้เฉลี่ย 27,705 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง สัญญาละ 23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.08% เช่นเดียวกับสายเหนือ ประหยัดไป 46 ล้านบาท
แต่หากนำไปเปรียบเทียบการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ ปี 2560 ยุครัฐบาล คสช. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตร วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ได้ซอยเป็น 5 สัญญา ราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 7,200 ล้านบาท และไม่รวมอาณัติสัญญาณ ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้บริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟไม่น้อยกว่า 10% ของแต่ละสัญญา ทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น และส่งผลให้เปลี่ยนแปลงเรื่องราคา ซึ่งผลการประมูลสามารถประหยัดงบประมาณเฉลี่ยสัญญาละ 408 ล้านบาท หรือประเทศประหยัดภาษีคิดเป็น 5.56%
รวมแล้วการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ ประหยัดงบประมาณไปกว่า 2,040 ล้านบาท จากยอดวงเงิน 36,000 ล้านบาท ขณะที่การประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ ประหยัดงบไปเพียง 60 ล้านบาท จากยอด 72,920 ล้านบาท สายอีสาน ประหยัดงบ 46 ล้านบาท จากยอด 55,458 ล้านบาท
หากการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ใช้เงื่อนไขแบบเดียวกับการประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ ประเทศจะประหยัดเงินภาษีประชาชนถึง 7,000 ล้านบาท ถามว่า ถ้าเราจะประหยัดเงิน 7,000 ล้านบาท ทำไมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ทำ แล้วเงิน 7,000 ล้านบาทนี้ไปอยู่ที่ไหน
ซึ่งผมไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ควรจะทราบว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทราบว่าจะมีการเซ็นสัญญาประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนช่วยกันปกป้องการทุจริตคอร์รัปชัน และถือโอกาสนี้เรียนท่านนายกรัฐมนตรีโปรดดำเนินการด้วยครับ”.