- หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
- ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. นี้
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม จะนำเสนอหลักการต่อที่ประชุมสภาในวันที่ 31 พ.ค. แล้วเปิดให้อภิปรายกัน 3 วัน รวมเวลา 47 ชม. 30 นาที โดยคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ตกลงกันว่าจะจัดสรรเวลาให้อภิปรายฝ่ายละ 22 ชม. ส่วนที่เหลืออีก 3 ชั่วโมงครึ่งเป็นเวลาของประธาน
ทว่ายังไม่ทันเปิดอภิปราย พรรคเพื่อไทย (พท.) โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค ก็ออกมาแถลงเมื่อ 23 พ.ค. ว่า พท. เตรียมลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ ก็จัดเตรียม “ขุนพล” เปิดอภิปรายชี้ให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลในการจัดทำงบประมาณที่ “ไม่ตอบโจทย์ต่อความเดือดร้อนของประชาชน” ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นทุกปี ซี่งถ้านำไปรวมกับเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท (ปี 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และปี 2564 วงเงิน 5 แสนล้าน) ก็ทำให้ฐานะการคลังอยู่ในภาวะ “สุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยการเงินการคลัง”
รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งกรอบงบประมาณปี 2565 ไว้ที่ 3,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.87% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากปีก่อน 185,962.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.66% ทั้งนี้รัฐบาลประมาณการรายได้ไว้ที่ 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 700,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.04% ของจีดีพี
การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัว 4-5% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มกลับสู่ภาวะปกติภายใต้เงื่อนไขการคิดค้นวัคซีนสำเร็จและสามารถใช้แพร่หลายทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 มีแนวโน้ม “อยู่ในเกณฑ์ดี” คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 5.3% ของจีดีพี ตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว
รัฐบาลตั้งงบกลางปี 2565 ไว้ที่ 571,047.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.4% ของงบประมาณรวมทั้งหมด โดยงบก้อนนี้มักถูกเปรียบเปรยว่าเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” เนื่องจากมีเฉพาะ “หัวข้อ” กับ “วงเงิน” แต่ไม่ระบุรายละเอียดของโครงการ ทำให้สภาไม่มีโอกาสตรวจสอบและกลั่นกรอง
อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณหน้า รัฐบาลได้ตัดงบกลางในรายการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ออกไป หลังเคยขอตั้งงบนี้ครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อปีก่อน วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท
การจัดทำงบปี 2565 ของรัฐบาลยังอยู่ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลักอย่างเช่นทุกปี
ส่วนงบที่ตั้งไว้ตามแผนงานบูรณาการ 11 แผนงาน ภายใต้งบประมาณรวม 208,177.3 ล้านบาท พบว่า รัฐบาลยังคงทุ่มงบไปกับการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์แบบทุกปีที่ผ่านมา ภายใต้วงเงินรวม 110,415.1 ล้านบาท รองลงมาคือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 63,251.6 ล้านบาท และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 12,275.4 ล้านบาท ปีนี้ยังเป็นอีกครั้งที่งบขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกปรับลดลง จนเหลือ 7,144.3 ล้านบาท
ตัดงบกลาโหมกว่าหมื่นล้าน
เมื่อภาพรวมของงบประมาณแผ่นดินปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ที่ 5.66% ทำให้การจัดสรรงบของหน่วยขอรับงบประมาณต่าง ๆ ถูกปรับลดลงถึง 28 รายการ ไม่เว้นกระทั่งส่วนราชการในพระองค์ที่ถูกปรับลดงบลง
กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบในสัดส่วนสูงสุดถึง 28.7% รองลงมาคือจังหวัดและกลุ่มจังหวัด งบลดลง 24.7% และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) งบหายไป 15.9%
ขณะที่กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบ “ทะลุแสนล้านบาท” ก็ยังคงเป็น 8 กระทรวงเดิม โดยมีกระทรวงศึกษาธิการรั้งตำแหน่งหน่วยงานที่ขอตั้งงบสูงสุด 332,398.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.7% ของงบทั้งหมด แม้ปีนี้จะถูกปรับลดงบลงจากปีก่อนถึง 24,051.1 ล้านบาท (ลดลง 6.7%) ก็ตาม
เช่นเดียวกับกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 203,282 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.6% ของงบทั้งหมด แต่ก็ถูกหั่นงบจากปีก่อนถึง 11,248.6 ล้านบาท (ลดลง 13.4%) โดยทุกเหล่าทัพปรับลดงบตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ หรือรู้จักในชื่อเรียกว่า “งบจัดหาอาวุธ” ลงหมด แต่ถึงกระนั้นงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งหมด
- กองบัญชาการกองทัพไทย ขอตั้งงบบุคลากร 7,100.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 5,605.1 ล้านบาท (ลดลง 2,000.7 ล้านบาท)
- กองทัพบก ขอตั้งงบบุคลากร 58,891.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 22,334.5 ล้านบาท (ลดลง 5,994.1 ล้านบาท)
- กองทัพเรือ ขอตั้งงบบุคลากร 21,282.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 14,612.8 ล้านบาท (ลดลง 460.7 ล้านบาท)
- กองทัพอากาศ ขอตั้งงบบุคลากร 13,457.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 366 ล้านบาท) ตั้งงบจัดหาอาวุธ 19,615.6 ล้านบาท (ลดลง 1,145.5 ล้านบาท)
ส่วนกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มมีเพียง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง 273,941.3 ล้านบาท ได้งบเพิ่มจากปีก่อน 5,273.6 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2%), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 24,664.8 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 2,323 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10.4%), กระทรวงพลังงาน 2,717.5 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 438.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19.2%) และหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 18.468.6 ล้านบาท ได้งบเพิ่ม 704.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4%)
ลดงบส่วนราชการในพระองค์ครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ขอตั้งงบประมาณ 8,761.4 ล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของงบภาพรวมทั้งประเทศ ลดลงจากปีก่อน 219.5 ล้านบาท โดยถือเป็นปีแรกที่มีการปรับลดงบของส่วนราชการในพระองค์ นับจากปรับรูปองค์กรและจัดระเบียบบริหารใหม่ด้วยการตรา พ.ร.บ. เฉพาะตัวเมื่อปี 2560