ผู้เลี้ยงโคหวั่น ‘โรคลัมปีสกิน’ มหาสารคามคุมเข้มแหล่งค้าใหญ่ หลังพบการระบาดหนักในประเทศเพื่อนบ้าน
นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้นำเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตลาดนัดโค กระบือ บ้านหัน ตำบลเขวา อำเภอเมือง ซึ่งเปิดทุกวันพุธของสัปดาห์ เพื่อควบคุมและป้องกันโรคลัมปีสกิน (Lumpy skin disease) ในโค กระบือ หลังพบการระบาดหนักในประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับโรคลัมปีสกินเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยจะพบตุ่มเนื้อ (nodule) บนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุมในเวลาต่อมา โดยโค กระบือที่ได้รับเชื้อจะมีไข้ หายใจลำบาก ในโคนม อาจพบปริมาณน้ำนมลด โรคลัมปีสกินสามารถแพร่ระบาดสู่โคและกระบือ โดยการได้รับเชื้อผ่านทางการนำเข้าเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตลอดจนแมลงพาหะ ซึ่งหากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม จึงได้มีมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องมาตรการป้องกันแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งตรวจสถานที่กักสัตว์เพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยมีการดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ยานพาหนะและตัวสัตว์ที่เข้า-ออกตลาดนัดโค กระบือ รวมทั้งพื้นที่บริเวณโดยรอบ เพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโรค เนื่องจากตลาดนัดโค กระบือ ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์จากหลายแหล่งมารวมกัน จึงมีโอกาสนำสัตว์ป่วย นำแมลงดูดเลือด หรือสัตว์ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการเข้ามา หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับยานพาหนะในการขนส่ง ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามจึงได้ขอความร่วมมือจากพ่อค้าและเกษตรกรที่ประสงค์เคลื่อนย้ายสัตว์ให้ขอใบอนุญาตจากปศุสัตว์อำเภอต้นทางทุกครั้ง การเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยตลาดนัดแห่งนี้มีเกษตรกรนำโค กระบือเข้ามาซื้อขายประมาณ 1,400-1,500 ตัวต่อนัด มีเงินหมุนเวียนสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 58 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้รายงานข่าวจากกรมปศุสัตว์ แจ้งว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ได้มีรายงานโคเนื้อในอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด มีอาการสงสัยคล้ายโรคลัมปีสกิน จึงได้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสลัมปีสกิน ถือเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวครั้งแรกในประเทศไทย สาเหตุอาจเกิดจากการลักลอบนำโคเนื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา
และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมพิจารณาผลกระทบกรณีสงสัยการระบาดของโรคลัมปีสกินในประเทศไทย และมีการรายงานโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการรายงานโรคไป OIE เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรค กรณีสงสัยโคและกระบือป่วยด้วยโรคลัมปีสกินในพื้นที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้เลี้ยงภายในประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับข้อมูลในการใช้วัคซีนป้องกันโรคต่อไป
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat