กระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉพาะเดือน เม.ย. 2,795 ราย เกี่ยวข้องสถานบันเทิง 1,016 ราย
วันที่ 10 เมษายน 2564 ในแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมาเรามีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 789 ราย มาจากต่างประเทศ 8 ราย อยู่ในระบบบริการ 522 ราย และมาจากคัดกรองเชิงรุก 259 ราย ทำให้การระบาดเฉพาะในช่วงเดือน เม.ย.2564 เรามีผู้ติดเชื้อสะสม 2,795 ราย เป็นการติดเชื้อสะสมในประเทศ 2,697 ราย มีการรักษาผู้ป่วยหาย 33 ราย
เสียชีวิตรายที่ 97
มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยเก่าในรอบเดือน ก.พ. 2564 ดังนั้น ยอดผู้เสียชีวิตในการระบาดรอบใหม่ เม.ย.64 สะสมที่ 3 รายและเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 97 ของประเทศไทย
สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นชายไทย อายุ 68 ปี จ.นครปฐม มีโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. มีอาการไข้ ไอเจ็บคอ จึงไปหาหมอที่คลินิก ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผลตรวจพบเชื้อ โดยสาเหตุมาจากมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยันรายก่อนหน้า ต่อมาก็เข้ารักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. การรักษาค่อนข้างดี ตรวจไม่พบเชื้อหลายครั้ง แต่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีการติดเชื้อซ้ำหลายครั้ง ทำให้เสียชีวิตในวันที่ 4 เม.ย. จากอาการไตวายและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
คลัสเตอร์สถานบันเทิงกระจาย 62 จังหวัด
ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศพบว่ามีการติดเชื้อกระจาย 62 จังหวัดแล้ว ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เป็นการติดเชื้อแบบก้าวกระโดดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ซึ่งตอนนี้ มีรายงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 1,016 ราย ใน 40 จังหวัด จะเห็นว่ามีการกระจายตัวค่อนข้างเร็ว
สำหรับจังหวัดที่สถานบันเทิงมีผู้ติดเชื้อแพร่กระจายไป ประกอบด้วย กทม. 74 แห่ง ชลบุรี 6 แห่ง, เชียงใหม่ 6 แห่ง, นครปฐม 2 แห่ง, นครสวรรค์ 1 แห่ง, นนทบุรี 3 แห่ง, ปทุมธานี 6 แห่ง, ประจวบคีรีขันธ์ 7 แห่ง, ปราจีนบุรี 1 แห่ง, สระแก้ว 3 แห่ง, อุบลราชธานี 1 แห่ง ฯลฯ ซึ่งสถานบันเทิงเหล่านี้มีคำสั่งปิดไปแล้ว แต่คณะกรรมการโรคติดต่อ แต่ละจังหวัดสามารถสั่งปิดเพิ่มเติมได้
เดินทางเข้า 29 จังหวัดต้องกักตัว
ขณะนี้คำสั่งศบค.มีการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด แต่ไม่ห้ามเดินทาง ไม่ได้บังคับให้กักตัว แต่ทั้งนี้แต่ละจังหวัดมีสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นแต่ละจังหวัดสามารถสั่งการเพิ่มเติมได้ ว่าหากเดินทางเข้ามาในพื้นที่จะให้กักตัว หรือไม่กักตัว ขึ้นกับสถานการณ์ตนเอง
ตอนนี้พบว่ามี 29 จังหวัด ที่เดินทางเข้ามาอาจต้องถูกกักตัว เช่น กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ ลำพูน อุทัยธานี ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร เลย สกลนคร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ ชัยนาท สระบุรี ชุมพร ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พังงา สงขลา
อย่างไรก็ตามก่อนจะเดินทางให้ตรวจสอบข้อมูลแต่ละจังหวัดปลายทางอีกครั้ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของระทรวงมหาดไทย
วัคซีนลอตใหญ่ มิ.ย.ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส
ส่วนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-9 เม.ย.2564 เข็มที่ 1 : 470,301 ราย เข็มที่ 2 : 67,079 ราย หลายจังหวัดมีการฉีดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ชลบุรี วันเดียวฉีดไปกว่า 10,000 โดส ภูเก็ตจัดส่งไปแสนกว่า วันเดียวฉีดได้ 14,000 โดส ฉะนั้นศักยภาพการฉีดในประเทศไทยจึงไม่มีปัญหา ที่สำคัญคือเร่งหาวัคซีนเพิ่มเติม ล่าสุดได้มา 1 ล้านโดส ซึ่งจะเข้ากระบวนการตรวจสอบต่อไป และมีข่าวดีอีกว่า จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมให้เราอีก 5 แสนโดสจากซิโนแวค ในปลายเดือน เม.ย. นี้ เรามีแผนจะฉีดให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยเฉพาะ
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขและด่านหน้าเราจะฉีดปูพรมให้หมดทุกจังหวัดของไทย
- ฉีดในพื้นที่ที่มีการระบาด
- จะมีการจัดสรรวัคซีนลงไปจังหวัดที่เตรียมเปิดประเทศ เช่น ภูเก็ต
- และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ตอนนี้เริ่มมีข้อกำหนดกับกลุ่มนานาชาติ ใครจะเดินทางข้ามประเทศ ไม่ว่าจะนักเรียนต่างประเทศที่ต้องไปเรียน ไปสอบ รวมถึงนักกีฬาทีมชาติที่จะคัดตัวไปโอลิมปิก
ฉะนั้นวัคซีน 1 ล้านโดส จะพยายามกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมาย ต่าง ๆ ให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้จำนวน 1 ล้านโดสก็ถือว่ายังไม่มาก ถือเป็นการซักซ้อม เพราะลอตใหญ่จะมาเดือน มิ.ย. เราก็มีแผนจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือนครอบคลุมประชากร ตอนนี้ภาคเอกชนก็มีความสนใจอยากจะเป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ขอให้ภาครัฐช่วยเจรจากับบริษัทวัคซีน ทางรัฐก็คงรับเรื่องนี้ไปดำเนินการต่อไป
ไม่มีนโยบายกักตัวที่บ้าน
กรณีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขอย้ำว่า เราไม่มีนโยบายว่า ถ้าติดเชื้อแล้วให้ไปกักตัวที่บ้าน แต่ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งตรวจเยอะ ทำให้เตียงเต็มบ้าง แต่ได้มีการคุยกันชัดเจนแล้วว่าให้มีระบบกรส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน หรือถ้าหากส่งต่อไม่ได้ ก็ให้สอบถามศูนย์ส่งต่อของกรมการแพทย์ หมายเลข 1668 จะเป็นจุดรับจัดการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล
เนื่องจากครั้งนี้มีผู้ป่วยแสดงอาการน้อย เราก็จัดระบบเหมือนครั้งก่อน โดยปรับโรงแรมเป็นกึ่ง โรงพยาบาล หรือฮอสพิเทล มีความสะดวกสบายระดับหนึ่งและดูแลโดยแพทย์สาธารณสุข มีระบบส่งต่อหากอาการหนัก ตอนนี้มีอยู่หลายพันห้องก็สามารถรองรับได้ และก็มีจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กำลังดำเนินการหากมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก
อาการโควิดสายพันธุ์ใหม่
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากการสังเกตอาการทางคลินิกของผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว อาการน้อยมาก เดิมเราให้คำแนะนำเรื่องไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส รอบนี้พบอาการเพิ่มเติม หลายรายมีอาการตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่นขึ้น ดังนั้น หากผู้ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงมีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบ
เมื่อถามว่าอาการใหม่ ตาแดง ผื่นขึ้น เป็นอาการของสายพันธุ์อังกฤษนี้หรือไม่ นพ.โอภาส ตอบว่า ต้องขอตรวจสอบข้อมูลและเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีสายพันธุ์นี้ก่อน แต่จากการสอบสวนโรคบางรายมีอาการตาแดงค่อนข้างมาก หลายรายผื่นขึ้น ไม่มีไข้ อาการค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบสายพันธุ์เดิม ต้องดูข้อมูลอีกครั้ง แต่เอาอาการนี้ไว้ใช้เตือนประชาชนที่ไปสถานบันเทิงได้ หากมีอาการเหล่านี้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
“แม้จะเป็นสายพันธุ์อังกฤษแต่หลักการวิธีป้องกันยังเหมือนเดิม คือใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ได้ผลเสมอไม่ว่าสายพันธุ์ไหน ส่วนสายพันธุ์นี้เข้ามาจากไหน มีหลายทฤษฎี เช่น หลุดจากสถานกักกัน หรือมาจากกัมพูชา ซึ่งกำลังระบาดเยอะ ต้องใช้การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว แต่บางประเทศไม่ได้ถอดรหัสพันธุกรรมเยอะมากนัก เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน คงต้องดูข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าเชื้อเข้ามาอย่างไร