วันที่ 24 มี.ค.64 เวลา 08.00 น. นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวในรายการวิทยุ “จังหวัดร้อยเอ็ดพบประชาชน” ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดร้อยเอ็ด คลื่นความถี่ 94.0 MHz กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ดังนี้
1. เรื่องผลกระทบที่เกิดจากพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 21-22 มีนาคม 2564 จังหวัดร้อยเอ็ดมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนราษฎรในหลายพื้นที่ ขณะนี้จังหวัดได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหาย และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือน และออกเยี่ยมเยียนราษฎร พร้อมมอบถุงยังชีพ ทั้งนี้ประเทศไทยอาจจะมีพายุฤดูร้อนพัดเข้ามาเป็นระลอก จึงขอแจ้งให้ประชาชนสำรวจสภาพบ้านเรือนของตนเองว่ามีความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ หากมีการชำรุด สามารถแจ้งอปท.ใกล้เคียง หรือช่างในพื้นที่ หรือจิตอาสาพระราชทาน ช่วยซ่อมแซม เพื่อให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง นอกจากนี้ในส่วนของหมู่บ้าน/ชุมชน ควรมีการปลูกต้นไม้กันลมตามแนวลม โดยขอฝากผู้เกี่ยวข้องได้เริ่มปลูกเพื่อเป็นแนวป้องกันลม พร้อมนี้จังหวัดขอให้พี่น้องประชาชนรักษาสุขภาพด้วย
2. ในช่วงฤดูร้อนรัฐบาลมุ่งส่งเสริมอาชีพในฤดูร้อน สำหรับการปลูกข้าวนั้น ขอให้ประชาชนเลือกพันธุ์ข้าวที่ดี โดยเลือกข้าวพื้นนุ่ม ซึ่งมีความต้องการของตลาด และหันมาปลูกพืชระยะสั้นที่สามารถสร้างรายได้เพิ่ม เช่น อ้อย สำหรับคั้นน้ำอ้อยสดจำหน่าย ซึ่งสร้างรายได้ดี ข้าวโพด และการปลูกผัก การทำปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงโค ซึ่งเป็นอนาคตของจังหวัด และมีความต้องการของตลาด และการปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นที่ต้องการ ทั้ง ฟางข้าว หญ้า ข้าวโพด ยังช่วยลดการเผาตอซังด้วย โดยสามารถนำฟางข้าวมาเป็นอาหารเลี้ยงโค
3. จังหวัดมีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโค โครงการ Smart Livestock 101 ปศุสัตว์มูลค่าสูง จังหวัดร้อยเอ็ด เลี้ยงแบบเลี้ยงในคอก และใช้อาหารตามสูตร TMR ซึ่งจะช่วยให้โคมีน้ำหนักตามเกณฑ์ และขายได้ภายใน 4 เดือน ซึ่งเป็นการเลี้ยงโคอัจฉริยะ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหลายกลุ่มหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาชีพหลักอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการปลูกข้าว นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมเกิดขึ้นคือ การปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหวัง การเลี้ยงโคยังได้มูลโค ซึ่งเป็นปุ๋ยชั้นดี โดยไม่ต้องพึ่งพาเคมี นำสู่เกษตรอินทรีย์
4. จังหวัดได้ตั้งกลุ่มขับเคลื่อนโครงการ Smart Livestock 101 ปศุสัตว์มูลค่าสูง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง
มอบหมาย ปลัดจังหวัด ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อน สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนรวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการขอกู้เงินจากธกส.
กลุ่มที่สอง การเตรียมความพร้อมแม่โคเพื่อการผลิตลูกและปรับปรุงพันธุ์
โดยปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับภาควิชาการ ทั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด รวมถึงภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อน โดยจะมีการสำรวจแม่โค/โคสาว เพื่อการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนโคในจังหวัดภายใน 5 ปี เพิ่มเป็น 1.2 ล้านตัว กลุ่มที่สาม พัฒนาและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารสัตว์
มุ่งส่งเสริมเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์มากยิ่งขึ้น จังหวัดจะส่งเสริมการเปิด feed center นำล่อง ณ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ซึ่งจะเป็นจุดรับซื้อพืชอาหารสัตว์จากประชาชนในพื้นที่
กลุ่มที่สี่ การพัฒนาระบบตลาดและฐานข้อมูล (Big data)
มอบหมายสำนักงานสถิติจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินร้อยเอ็ด คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ดร่วมขับเคลื่อน
พร้อมนี้ผู้ว่าฯ ได้กล่าวว่า สัปดาห์ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการส่งเสริม Smart farming และเทคโนโลยี และทิศทางการปรับแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดี พร้อมฝากให้ประชาชนติดตามข้อมูล ศึกษาผ่านช่องทางต่างๆ จังหวัดมุ่งพลิกฟื้นพื้นที่ 2 ล้านไร่ที่ไม่เหมาะกับการทำนา เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น ตามแนวทาง “จังหวัดร้อยเอ็ดเมืองคนดีเกษตรศรีอัจฉริยะ”