การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การประมูลงานภาครัฐหลายโครงการต้องล่าช้าออกไป แต่มาวันนี้เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่ารัฐจะกลับมาเร่งเครื่องการลงทุนอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว
โดยงานประมูลแรกของปีมีรายละเอียดออกมาแล้ว ประเดิมด้วยโครงการไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท เริ่มจากเส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างรวม 7.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะประกาศรายละเอียดและเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ในวันที่ 19 มี.ค. – 17 พ.ค. นี้
และเปิดให้เอกสารยื่นเสนอราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) บนเว็บไซต์ของ รฟท. ในวันที่ 18 พ.ค. คาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลวันที่ 8 ก.ค. พร้อมลงนามสัญญาวันที่ 30 ก.ค. 2564 โดยเส้นทางนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2571
ส่วนเส้นบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง
5.54 หมื่นล้านบาท จะเปิดขาย TOR ระหว่าง 26 มี.ค. – 24 พ.ค. นี้ และเปิดให้ยื่นประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 25 พ.ค. ประกาศผลผู้ชนะ 15 ก.ค. และลงนามสัญญา 6 ส.ค. 2564 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี เปิดบริการปี 2569
ถือว่าขณะนี้ทั้ง 2 เส้นทาง มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนแล้ว หลังก่อนหน้านี้เกิดความล่าช้าจากการแก้ไขร่าง TOR เชื่อว่าเมื่อเปิดประมูลบรรยากาศน่าจะคึกคัก เพราะเป็นโครงการแรกของปี เอกชนก็ให้ความสนใจ เป็นโอกาสที่ดีในการรับงานใหม่เข้ามาเติมในพอร์ต
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าทั้ง 2 เส้นทาง จะแบ่งการประมูลออกเป็น 5 สัญญา สัญญาละ 2 หมื่นล้านบาท โดยเส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 3 สัญญา และเส้นบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม อีก 2 สัญญา
แน่นอนว่าผู้รับเหมารายใหญ่มีโอกาสได้งานมากที่สุด เพราะมากด้วยประสบการณ์ ขณะที่ฐานะการเงินก็แข็งแกร่ง สะท้อนได้จากการประมูลในเฟสแรก ล้วนแต่เป็นบิ๊กเนมที่คว้างานไปได้ แบ่งเค้กกันอยู่ในกลุ่ม “บิ๊ก4” ประกอบด้วย
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ
แต่ใช่ว่ารายเล็กๆ จะไม่มีโอกาสได้งานเลย เพราะแต่ละเส้นจะซอยสัญญาย่อยออกไปอีก ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กก็มีโอกาสได้งานรับเหมาช่วง (Subcontract) จากผู้ประกอบการรายใหญ่อีกทอดหนึ่ง
โดยเฉพาะเส้นเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ปรากฏว่าทั้ง 3 สัญญา จะมีในส่วนของงานอุโมงค์รถไฟ กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความชำนาญในการก่อสร้างอุโมงค์ เช่น บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT ซึ่งมีรายได้หลักมาจากงานอุโมงค์ถึง 60% ซึ่งบริษัทประกาศพร้อมเข้าประมูล
แน่นอนว่างานประมูลภาครัฐที่จะทยอยออกมาเรื่อยๆ จะยิ่งหนุนให้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างนั้นน่าสนใจยิ่งขึ้น หลังปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไปไม่น้อย งานประมูลทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน ชะลอไปหลายโครงการ ขณะที่หลายบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ส่วนที่เข้ามาทำงานก็เดินทางกลับประเทศกันไปเยอะ
โดยในช่วงที่เหลือจะมีงานใหม่ๆ ที่เตรียมเปิดประมูลอีกหลายโครงการมูลค่ารวมหลายแสนล้านบาท ที่น่าสนใจเป็นโครงการใหญ่ อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมที่จะเปิดประมูลใหม่เร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากยังมีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลประเด็นการเปลี่ยนเงื่อนไข TOR และการล้มประมูล อาจเป็นตัวแปรให้โครงการล่าช้าได้