ส.ชาวนาและเกษตรกรไทย ลุยพบ สทนช. ขอเร่งสปีด 52 โครงการน้ำ ใน 14 จังหวัดให้ทันแล้ง พร้อมผนึกโรงสีชัยนาทประเดิมส่งเสริมปลูก “ข้าวขาวพื้นนุ่ม” นำร่องรับซื้อ 18,000 ไร่ ตันละ 9,500 บาท มั่นใจอนาคตมาแรงแซงข้าวปทุมแน่
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ทางสมาคมพร้อมตัวแทนคณะกรรมการสมาคม ได้เข้าประชุมร่วมกับ พลเรือเอกพิเชฐ ตานะเศรษฐ หัวหน้าคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำเพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อน ตามที่สมาคมได้เคยมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไปประมาณ 4-5 เดือนก่อน
“ท่านนายกฯได้มีบัญชาให้ช่วยเร่งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การเจาะบ่อบาดาล การหาน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยเกษตรกร ในส่วนที่สมาคมเป็นผู้ชี้เป้าหมายรวม 52 แผนงาน ใน 14 จังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ พิษณุโลก นครราชสีมา กำแพงเพชร เป็นต้น
ซึ่งผลจากการหารือเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณกลาง และได้สั่งการไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรแบบชุมชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดความมั่นใจกับพวกเราได้ว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำจะไม่เจอปัญหา สามารถดำเนินการตามเป้าหมายฤดูแล้งที่จะมาถึงอย่างแน่นอน”
นอกจากการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรในเรื่องน้ำแล้ว ทางสมาคมยังได้ประสานไปทางรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เพื่อขอให้ส่งเสริมการปลูกข้าวขาวพื้นนุ่ม พันธุ์ กข 87 และ กข 79
เป็นหนึ่งในข้าวที่รัฐบาลส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว ปี 2563-2567 ด้วย โดยในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ทางสมาคมจะร่วมกับตัวแทนโรงสีดำเนินโครงการนำร่องตามขาณุโมเดล ซึ่งได้มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ กข 79 บนพื้นที่ 18,000 ไร่
โดยขณะนี้มีโรงสีในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และฉะเชิงเทรา พร้อมที่จะช่วยรับซื้อข้าวขาวพื้นนุ่มแล้ว เบื้องต้นคาดว่าข้าวเปลือกจะมีราคาประมาณ 9,500-9,600 บาท
“ข้าวขาวพื้นนุ่มพันธุ์นี้ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จากปกติไม่กี่ร้อยกิโลกรัมต่อไร่ และมีอายุการเพาะปลูก 130-140 วัน เรียกว่าดีกว่าข้าวปทุม
แต่ไม่เท่าหอมมะลิ หากไทยพัฒนาข้าวนี้จะทำให้ไทยสามารถส่งออกไปแข่งขันกับข้าวพันธุ์ ST25 ของเวียดนามได้ และในอนาคตมีโอกาสจะปลูกข้าวชนิดนี้มากกว่าข้าวปทุมธานี เพราะข้าวปทุมมีปัญหาเรื่องแมลง เพลี้ยลง เป็นข้าวรกโคน คนก็คงปลูกลดลงเรื่อย ๆ”