พช.จับมือสภาสตรีฯ เปิดพิธีฝึกอบรมพร้อมมอบกี่ทอผ้า โครงการ “ส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด” สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย หนุนกลุ่มอาชีพทอผ้าเสริมความรู้ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 1 มี.ค.64 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีเปิดการฝึกอบรมทักษะการทอผ้าและส่งมอบกี่ทอผ้า พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วมเป็นเกียรติในการฝึกอบรมและมอบกี่ทอผ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ฝึกทักษะการทอผ้าให้แก่ผู้สนใจ และจัดตั้งกลุ่มอาชีพการทอผ้าในพื้นที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จำนวน 2 กลุ่ม จำนวน 25 คน ซึ่งได้มอบกี่ทอผ้าให้แก่ กลุ่มทอผ้าโรงเรียนบ้านธรรมชาติล่าง จำนวน 10 หลัง และกลุ่มทอผ้าโรงเรียนวัดบางปิดล่าง จำนวน 15 หลัง รวมจำนวน 25 หลัง โดยมีนายณกรณ์ ตั้งหลัก วิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผ้าไทยจากจังหวัดมหาสารคาม มาให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติการทอผ้า ระหว่างวันที่ 1-30 มีนาคม 2564 รวม 30 วัน ณ โรงเรียนบ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด
นายสุทธิพงษ์ กล่าวขอบคุณ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ที่เป็นภาคีเครือข่ายของกรมการพัฒนาชุมชนมาอย่างดี และนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รวมถึงนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวเบญจมาส วงษ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกรม และนายมนตรี ฮมแสน พัฒนาการจังหวัดตราด รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 24 ราย ที่มอบกี่ทอผ้า ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ผ้าไทยในประเทศไทยที่มีการทอผ้าทั้ง 77 จังหวัด โดยจังหวัดตราด เป็นประเทศที่ 77 ในการทอผ้า จะเห็นได้ว่า การทอผ้ามีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียงมายาวนานคือ กลุ่มบ้านครัว สะพานหัวช้าง เป็นกลุ่มทอผ้าที่มีอายุมากกว่า 200 ปี มาจนถึงทุกวันนี้ ในสมัยอดีตจังหวัดตราดได้มีการทอผ้า แต่ได้ห่างหายไปเรื่อยๆ ทำให้เราต้องมากระตุ้น ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าของคนจังหวัดตราด ขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยไว้ ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสแก่ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ทราบในประเทศไทยมีการทอเกือบทุกจังหวัด ยกเว้น 3 จังหวัด ที่ไม่มีผ้าเป็นของตัวเอง คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และตราด แต่ในช่วง 2 ปี โดยสมุทรสาครมีรูปแบบผ้าปักลายปลาทู เช่นเดียวกับสมุทรปราการก็มีการทอผ้าแล้ว เป็นความโชคดีของจังหวัดตราด ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวอยากทอผ้า ในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงรื้อฟื้นผ้าทั่วประเทศ เป็นการสนองงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากเห็นคนไทยคงรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย และที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธาน ในวันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2562 จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ดำรงรักษาผ้าถิ่นไทยไว้ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย ในการที่จะสืบสาน แนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปี ทรงศึกษาเรื่องผ้า คิดค้น รวมทั้งพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน สู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน เป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเห็นความสำคัญ และสนใจเข้าร่วมศึกษา อยากเห็นผ้าไทยคู่กับคนไทย ด้วยฝีมือของคนไทยทุกจังหวัด ทั้งนี้ ได้เชิญ อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก ผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า ที่อนุรักษ์ สืบสานผ้าถิ่นไทยที่มีฝีมือการทอผ้า และความรู้ทอผ้าทั่วประเทศ จนกระทั่งสมเด็จราชชินีพระราชทานแต่งตั้ง เป็นขุนพลของผ้าไทยของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถและฝีมือแก่วิทยากรที่มามอบองค์ความรู้แก่สมาชิก ขอให้ทุกคนตั้งใจและรับเอาความรู้จากวิทยากรมาอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาการทอผ้าของเราให้คงยั่งยืนต่อไป
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีผู้ที่จะร่วมเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราดในการที่จะสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดินประเทศไทยของเรามีความโชคดีมากๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีพันปีหลวง เสด็จไปทุกหนแห่งของประเทศไทย มากกว่า 540,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอให้พระองค์ท่านดูแลในเรื่องของอาชีพสตรีในการพลิกฟื้นผ้าไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประเทศชาติ ได้พลิกฟื้นให้การทอผ้าไทยเป็นอาชีพเสริมของพี่น้องสตรีที่ว่างเว้นจากการทำนา จากการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวของของสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงเล่าเรื่องในหลายๆ หมู่บ้าน เช่น จังหวัดนครพนมได้มีการส่งข้าหลวง ให้มาช่วยชาวบ้านในการทอผ้า เพื่อสวมใส่เองและจำหน่าย จนกระทั่งทำให้ชีวิตของสตรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในช่วงแรกตั้งแต่ปี 2558 ได้จัดทำโครงการตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของสตรี หวังส่งเสริมการทอผ้าไหมให้อยู่คู่แผ่นดินไทย และนับเป็นความโชคดีของพวกเราที่ได้เกิดมาทดแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระพันปีหลวง ซึ่งได้ทรงพระราชทานชีวิตให้กับผ้าไทยและผ้าไทยทุกผืนที่พี่น้องกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ของจังหวัดตราด ดังเช่นการส่งเสริมการทอผ้าทั้ง 4 ภาค ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และความมั่นคงในชีวิตด้วยผ้าไทย ดั่งที่พระมหากรุณาธิคุณเปรียบเสมือนดั่งสายฝนที่ทุกครัวเรือนได้รับโดยถ้วนหน้า ต่อมาได้มีการทำโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยมุ่งเน้นพี่น้องสตรีและสุภาพบุรุษที่มีศักยภาพในการทอผ้า โดยเน้นการเล่าเรื่องราวชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในผืนผ้า เป็นเรื่องที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ และเอามาเผยแพร่ รณรงค์ให้พวกเราร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย เราจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ในช่วงหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยการอนุรักษ์ผ้าไทย เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง สมเด็จพระพันปีหลวงพระราชทานหน้าที่ของสตรีไว้ 4ประการ 1) เป็นแม่บ้านที่ดีของบ้าน 2) เป็นแม่ที่ดีของลูก 3) สืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นการทอผ้า 4) การพัฒนาตัวเองในด้านการทอผ้า จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถ ผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของจังหวัดตราด สร้างความภาคภูมิใจให้ลูกหลานต่อไป และสุดท้ายนี้กรมการพัฒนาชุมชนกับองค์กรสตรีในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความมุ่งมั่นโน้มน้าวผลักดันให้คนในประเทศทั้ง 35 ล้านคน มาร่วมกันใส่ผ้าไทย เพียงซื้อผ้าเพิ่มคนละ 1 เมตร เม็ดเงินกว่าแสนล้านบาท คืนสู่ชุมชนทั่วประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านที่ได้มุ่งมั่นทำภารกิจนี้ อย่างเต็มความสามารถ เป็นพันธกิจความมุ่งมั่นที่เราจะมีสัจจะร่วมกัน ที่จะเนรมิตผืนผ้าไทย ให้เป็นภาพสวยงามของจังหวัดตราด และสามารถสวมใส่ได้อย่างภาคภูมิใจในการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป
นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ขอขอบคุณ กลุ่มทอผ้าโรงเรียนบ้านธรรมชาติล่างและกลุ่มทอผ้าโรงเรียนวัดบางปิดล่าง ที่ช่วยกันรวมกลุ่ม รวมถึงพี่น้องกลุ่ม OTOP ที่ช่วยบริจาคกี่ทอผ้าแก่กลุ่ม ช่วยกันดูแล สร้างสิ่งดีๆ ถักทอบนพื้นผ้าต่อไป แสดงให้เห็นนิมิตรหมายที่ดี ของการรวมกลุ่มเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ในการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เช่นเดียวกับทางสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ตามรอยแม่ของแผ่นดิน พระพันปีหลวง ตามพระองค์ท่านพระราชดำเนินส่งเสริมผ้าไทยในพื้นที่ต่างๆ เช่น นครพนม แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ปัตตานี ภูเก็ต และอีกหลายพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจแก่กลุ่มทอผ้า อย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2563 และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้ถือว่ามาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทย ตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน อีกทั้งยังให้ทุกกระทรวงรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง เพื่อสร้างค่านิยม รักษามรดก อัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย และอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนาผ้าไทย เพื่อเป็นสินค้าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเป็นการส่งเสริมเผยแพร่เรื่องราวของผ้าให้ลูกหลานและสังคมได้รับรู้ ผ่านการจัดนิทรรศการ และส่งเสริมการรวมมกลุ่มการทอผ้าให้มากขึ้น ผ้าไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหาย แสดงให้เห็นถึงความกตัญญู มีหลักชัยที่สำคัญที่พระองค์ท่าน ส่งเสริม สนับสนุน การทอผ้า ที่ทำให้ 77 จังหวัด มีการทอผ้าครบทุกจังหวัด
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบพืชผักสวนครัว ประกอบด้วย กะเพรา แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า พริก จำนวน 500 ซอง แก่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลคลองใหญ่ และ ได้มอบต้นกล้าผักสวนครัว แก่นายสุชาติ จิตมุ่งมโนธรรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางปิด มอบเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง จาก บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด อีกจำนวน 500 ซอง แก่ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลบางปิด และมอบหนังสือสำหรับเด็กสำหรับห้องสมุดโรงเรียน จากร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ กรุงเทพ ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 100 เล่ม ให้แก่นางศิริรัตน์ โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางปิดล่างอีกด้วย ดังนั้นถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดี ในการฝึกอบรมทักษะการทอผ้า ตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้า สร้างมูลค่าการทอผ้า รักษา อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ผสมผสานความทันสมัยให้มีความน่าสนใจ ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อมุ่งยกระดับผ้าไทยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในชุมชน และเน้นย้ำ ให้ทุกคนต้องอดทน จริงจังต่อการทอผ้า ฝึกฝนเอาความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติ ระหว่างการดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด ทั้ง 30 วันนี้ ขอเป็นกำลังใจ และขอบคุณสมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกท่าน ที่ช่วยกันสานฝันคนไทยให้เป็นจริง ได้สวมใส่ผ้าไทยที่เป็นฝีมือบ้านเดียวกัน และฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด กรุณาให้ความเมตตาเป็นกำลังใจแก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อเป็นการรักษาความกตัญญูต่อการอนุรักษ์ผ้าไทยของบรรพบุรุษให้คงอยู่คู่แผ่นดิน ตลอดจนกระจายรายได้สู่ชุมชนฐานราก ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มแก่ประเทศชาติ และหวังว่าในอนาคตจังหวัดตราด จะสามารถผลิตผ้าทอ ที่ทรงคุณค่า มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์งดงามแก่สายตาชาวไทย และขอขอบคุณกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP 24 ราย ที่ได้บริจาคกี่ทอผ้า จำนวน 25 หลัง แก่กลุ่มสมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม และขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ที่ช่วยดูแลมีความอนุเคราะห์ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทยและทำให้การดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราดลุล่วงไปด้วยดี และสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ การจะนำความสุขไปสู่พี่น้องคนไทยต่อไปในอนาคต อธิบดี พช. กล่าว