สธ. เผยผู้ป่วยติดเตียง อายุ 95 ปี ติด COVID-19 ในบ้าน เร่งสอบสวนโรค ขณะที่ อว. เผยทั่วโลกฉีกวัคซีนแล้ว 104 ล้านคน ใน 66 ประเทศ อัตราการฉีดเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 4.2 ล้านโดส
วันนี้ (6 ก.พ.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า การค้นหาเชิงรุกทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเลข 3 หลักต่อเนื่องตลอด 2 สัปดาห์ โดยวันที่ 1 ก.พ. 836 คน วันที่ 2 ก.พ. 836 คน วันที่ 3 ก.พ.795 คน วันที่ 4 ก.พ. 809 คน วันที่ 5 ก.พ. 586 คน และวันนี้ 6 ก.พ. อยู่ที่ 490 คน ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการค้นหาเชิงรุกและค้นพบในระบบจะทำให้ประชาชนเข้าใจและเห็นการจัดการปัญหาที่ดีขึ้น
สัปดาห์นี้พบมีผู้ติดเชื้อ 16 จังหวัด จากที่เคยพบ 63 จังหวัด กิจการกรรมการค้นหายังทำอย่างเต็มที่ และไม่ย่อหย่อน
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงคลัสเตอร์มหาสารคามจากการกินเลี้ยงโต๊ะแชร์ ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 3 ก.พ. จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ยังคงมีการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต่อเนื่อง การตรวจต่าง ๆ ก็ยังดำเนินการไปอย่างเข้มข้น
ส่วนกรณีผู้ป่วย COVID-19 เพศชาย อายุ 95 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง อาศัยใน กทม. พบมีลูกจ้างเมียนมา 3 คน ใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนนี้ เป็นหญิงอายุ 24 ปี, 20 ปี และ 36 ปี ทั้ง 3 คน ทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุรายนี้ พ้นยา ดูดเสมหะ กรณีนี้เป็นผู้ที่เข้ามาดูแลแบบไม่ได้อยู่ประจำ มีประวัติเดินทางไปตลาด พื้นที่อื่นๆ ทีมสืบสวนกำลังขีดวงว่ามีพื้นที่ใดบ้าง ที่จะต้องไปมีมาตรการดูแลทั้งเรื่องการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและในเรื่องของการจัดการทำความสะอาด
นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนโรคใน จ.ตาก พบมีผู้ป่วยชาย สัญชาติเมียนมา อายุ 75 ปี ในพื้นที่ อ.แม่สอด เป็นผู้สูงอายุที่อยู่แต่ในบ้าน อยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปข้างนอก แต่มีการเชื่อมโยงของคนที่เข้าออกในบ้าน ญาติ ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 11 คน หลังจากนี้จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นเพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลาง และต่ำต่อไป
ทั่วโลกฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 4.2 ล้านโดส
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงาน ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ว่า ขณะนี้ (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64) ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 104,668,029 โดส โดยอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง เพิ่มขึ้น 4.2 ล้านโดส ระยะเวลา 57 วัน ใน 66 ประเทศ/เขตปกครองพิเศษ
ข้อกังวลที่บอกว่าวัคซีนต่าง ๆ จะมีอัตรายหรือไม่นั้น ย้ำว่าโอกาสที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เล็กๆ น้อยๆ เป็นได้ทุกวัคซีน แม้แต่วัคซีนที่ฉีดอยู่เป็นประจำ ในวัคซีนใหม่ที่ออกมาแล้วขึ้นทะเบียนได้ เรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องแรกที่ต้องดู อาการที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนจริง ๆ มันเป็นเพียงแค่ส่วนน้อย
ในต่างประเทศที่มีการฉีดกันถึง 100 ล้านโดส โดยขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดที่เกิดข้อกังวลจนกระทั้งหยุดฉีด ขอให้มั่นใจ การเลือกวัคซีนในประเทศไทยอิงความรู้ตามหลักวิชาการ ที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.จับตา “คลัสเตอร์แม่สอด” ชาย 75 ปี แพร่เชื้อโควิด 7 ครอบครัว
8 ขั้นตอนบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ใช้เวลา 37 นาที