วันนี้ (5 เมษายน 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ โดยช่วงสงกรานต์คาดว่าอาจมีโอกาสการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ จึงขอให้เข้มมาตรการ VUCA ได้แก่ การฉีดวัคซีนโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น, ป้องกันตนเองตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ไม่ไปสถานที่แออัด เลี่ยงการรับประทานร่วมกัน, องค์กร/หน่วยงานใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK เป็นระยะ ซึ่งจะช่วยลดไม่ให้ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิต เพิ่มขึ้น
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เพียง 34.6% เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุฉีดเข็มกระตุ้นได้ 37.2% ถือว่าความครอบคลุมยังน้อย โดยมีเพียง 7 จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่มผู้สูงอายุตามเป้าหมายได้มากกว่า 70% ได้แก่ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม ลำพูน และชัยนาท โดยปัจจัยที่ทำให้คนฉีดเข็มกระตุ้นน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายหลายมาตรการ ทำให้ประชาชนอาจรู้สึกว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเพียงพอแล้ว จึงขอทำความเข้าใจว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ การได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม เมื่อเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง จำเป็นต้องรับวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วยลดการป่วยหนักและลดการเสียชีวิตได้ชัดเจน โดยการฉีด 3 เข็ม จะลดอัตราเสียชีวิตได้ 31 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้น ช่วงก่อนสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ขอให้กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อความปลอดภัย หากอัตราการฉีดเข็มกระตุ้นยังน้อย คาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์อาจมีการติดเชื้อ มีผู้ป่วยหนัก และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ในเด็ก พบรายงานการติดเชื้อในกลุ่มอายุ 5-11 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเรียนเป็นระยะ โดยเด็กกลุ่มนี้ยังฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่ถึง 50% และเข็มสองยังไม่ถึง 2% ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันน้อย ขณะที่เชื้อพัฒนาตัวเองตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว ขอย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาไปรับวัคซีนซึ่งมี 3 สูตร คือ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ห่างกัน 8 สัปดาห์, ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ซิโนแวค ห่างกัน 4 สัปดาห์ และควรฉีดเข็มสามด้วยไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ ควรระวังการรวมกลุ่มในสถานที่อากาศปิด เช่น ร้านเกม เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเจ้าของร้านเกมเพิ่มความปลอดภัยให้เด็ก โดยการลดจำนวนเครื่องลงและจำกัดเวลาไม่ให้อยู่ในร้านนานเกินไป ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบการติดเชื้อและเสียชีวิตต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันและมีความเสี่ยงมากกว่าทุกกลุ่มอายุ ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยได้คือการใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ผู้ที่จะเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ขอให้ทำมาตรการ Self Clean Up เตรียมพร้อมร่างกายตนเองให้ปราศจากเชื้อ 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ โดยสำรวจตัวเองว่ามีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น หรือไปสถานที่เสี่ยงมีคนติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีอาการหรือมีความเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK หากพบว่าติดเชื้อให้ระงับการเดินทางและเข้ารับการรักษา แต่หากผลเป็นลบ ระหว่างเดินทางขอให้เข้มมาตรการป้องกันตนเอง และเมื่อถึงบ้านแล้วยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่อเนื่อง