วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2025

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยของโจ ไบเดน คืออะไร ทำไมไทยไม่ได้รับเชิญ

โจ ไบเดน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

“ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เราต้องปกป้อง ต่อสู้เพื่อให้ได้มา สร้างความเข้มแข็ง และรื้อฟื้นมันขึ้นมา” นายโจ ไบเดน เคยกล่าวไว้หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2564

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้ (9 ธ.ค.)

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ได้รับความสนใจจากหลายประเทศด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน บ้างสนใจเพราะเป็น 1 ใน 110 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่จะเข้าร่วม บ้างสนใจเพราะไม่ได้รับคำเชิญ และบ้างหันมามองการประชุมนี้เพราะการโปรโมทของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประชาสัมพันธ์ว่างานนี้เป็นดำริของประธานาธิบดีไบเดนที่ประกาศจุดยืนเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

การประชุมทางไกลออนไลน์นี้ใช้เวลา 2 วัน โดยไฮไลต์จะอยู่ที่การประกาศแผนดำเนินการและคำมั่นสัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าด้วยการส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพสื่อ และการต่อต้านการทุจริต นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมก็จะกล่าวถ้อยแถลงแสดงจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย

สิ่งที่ทำให้การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีสีสันตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม อยู่ที่รายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญและไม่ได้รับเชิญ ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์และคำถามมากมาย

สื่อด้านการเมืองชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง Politico เขียนบทความวิจารณ์รายชื่อประเทศที่รัฐบาลไบเดนเชิญเข้าร่วมว่าบางประเทศอย่างโปแลนด์ ฟิลิปปินส์ บราซิล อินเดีย มีกรณีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็กลับได้รับคำเชิญ และผู้นำประเทศที่มีประวัติน่ากังขาเหล่านี้ก็อาจใช้บัตรเชิญของไบเดนเป็นเสมือนใบรับรองความเป็นประชาธิปไตยให้ตัวเอง

ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้รับเชิญก็มีท่าทีต่างกันไป อย่างเช่นจีนประกาศว่าจะจัดเวทีประชาธิปไตยของตัวเองช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ จัดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย เพื่อตอกย้ำว่า “ระบอบจีน” นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า

สำนักข่าวเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ทางการจีนคนหนึ่งว่าพลเมืองจีนไม่ชอบและไม่ต้องการประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยของนายไบเดนนี้คืออะไร และทำไมประเทศถึงได้รับเชิญ บางประเทศไม่ได้รับเชิญ บีบีซีไทยหาคำตอบมาจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ

คำบรรยายภาพ,

กต. เผยแพร่คำพูดของนายดอน รมว. ต่างประเทศต่อการที่สหรัฐฯ ไม่ได้เชิญไทยเข้าร่วมประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยคืออะไร

  • การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยเป็นความคิดริเริ่มของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของเขายกให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศ
  • การประชุมจะจัดแบบออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ซึ่งจะหารือกันใน 3 หัวข้อหลัก คือ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาธิปไตยและการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยม 2) ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และ 3) ส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน
  • รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าการประชุมนี้จะเป็นโอกาสให้ได้รับฟัง เรียนรู้ และพูดถึงสิ่งที่ท้าทายประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ
  • ผู้แทนรัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ จะให้คำมั่นสัญญาในการร่วมกันผลักดันประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก

จัดที่ไหน-เมื่อไหร่

การประชุดสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยจะมีขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประชุมทางไกลออนไลน์ในวันที่ 9-10 ธ.ค. โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (www.state.gov) ส่วนครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งใจจะให้ผู้เข้าร่วมเดินทางมาเจอกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนั้นด้วย ระหว่างการประชุมครั้งที่ 1 และ 2 นายไบเดนจะประกาศให้เป็น “ปีแห่งการลงมือทำ” (Year of Action) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายในการรื้อฟื้นประชาธิปไตย

ใครเข้าร่วมบ้าง

ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐบาล ภาคเอกชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงการเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และผู้นำรุ่นใหม่ องค์กรพหุภาคีที่ขับเคลื่อนด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ดูรายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมได้ ที่นี่

จะมีคำประกาศอะไรหรือไม่

  • ผู้เข้าร่วมประชุมจะประกาศคำมั่นสัญญาในการสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในประเทศของตัวเองและประเทศอื่น ๆ
  • รัฐบาลสหรัฐฯ จะประกาศแผนงานและคำมั่นสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพสื่อ ต่อต้านการทุจริต สนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ผลักดันการมีบทบาทางการเมืองของสตรี เด็กหญิงและคนชายขอบ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย

ทำไมบางประเทศถึงได้รับเชิญ แต่บางประเทศไม่ได้

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่เขียนชี้แจงไว้ในเว็บไซต์ว่า

  • สหรัฐฯ ทาบทามประเทศในหลากหลายภูมิภาค ทั้งที่มีประชาธิปไตยที่มั่นคงยาวนานและประชาธิปไตยในระยะเริ่มต้น ซึ่งความก้าวหน้าและคำมั่นสัญญาของประเทศเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขขึ้นในโลก
  • สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับผู้เข้าร่วมประชุมและรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับความถดถอยของประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการทุจริต ทั้งในกรอบของประชุมสุดยอดและนอกเหนือจากกระบวนการนี้
  • สหรัฐฯ มุ่งทำงานร่วมกับทุกประเทศที่แสดงความตั้งใจจริงในการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย

ไทยบอกดีแล้วที่ไม่เชิญ

มีเพียง 3 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่สหรัฐฯ เชิญเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย คือ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

การที่ไทยไม่ได้รับเชิญ กลายเป็นประเด็นที่สื่อหยิบมานำเสนอและ ส.ส. ฝ่ายค้านยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ทำให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ต้องลุกขึ้นมาชี้แจง โดยบอกว่าการประชุมดังกล่าว “เป็นเรื่องการเมืองล้วน ๆ” และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่ได้รับเชิญ

“(การประชุมดังกล่าว) เป็นเรื่องของการเมืองที่จะต้องการเล่นงานกันและกัน…บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง เขาก็ไม่ได้รับเชิญด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่ได้แปลก ในแง่ของการไม่ได้รับการเชิญ บางเรื่องเราดีใจด้วยซ้ำไปไม่ต้องมาเชิญเรา บ่อยครั้งถ้าไม่เชิญเราก็บอกว่าดีแล้ว ถ้าเชิญเราก็ต้องพิจารณาว่าจะไปหรือไม่ไป มันเป็นดาบสองคมในหลาย ๆ กรณีด้วยกัน” นายดอนกล่าวระหว่างตอบกระทู้สดของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย

รมว. ต่างประเทศกล่าวอีกว่าการไม่ได้รับคำเชิญจากสหรัฐฯ ให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมา “กระทืบเท้าด้วยความเสียใจ…หรือจะมีคำเชิญแล้วเราต้องลิงโลดที่จะไป ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นด้วยเช่นกัน ความเป็นจริงทางด้านต่างประเทศ มันไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ”

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ,

นายกฯ ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับไทย โดยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายกฯ เพื่อมอบวัคซีนโควิดของโมเดอร์นาจำนวน 1 ล้านโดสที่สหรัฐ บริจาคให้ไทย

วันต่อมา (26 พ.ย.) นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษก กต. ส่งข้อความถึงผู้สื่อข่าวชี้แจงประเด็น “ไทยไม่ได้รับเชิญ” นี้อีกครั้งว่า ไทยรับทราบเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่การรณรงค์หาเสียง และ “ไทยไม่ได้มีข้อห่วงกังวลว่าจะได้รับเชิญหรือไม่ โดยขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐฯ ในฐานะผู้จัด ที่อาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยในการพิจารณาของตนเอง”

โฆษก กต.ระบุอีกว่า ไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั้งที่ได้รับเชิญและมิได้รับเชิญ และที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น Bali Democracy Forum ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นประจำทุกปีและมีบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์มาโดยตลอด

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เมื่อคำถามเรื่องไทยไม่ได้รับเชิญยังไม่เงียบหาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงออกมาย้ำเองเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับไทยในฐานะหุ้นส่วน

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังจากนายเท็ด โอซิอุส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทยว่า นักธุรกิจสหรัฐฯ ยังสนใจการลงทุนในไทยเหมือนเดิม “ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น และไม่เคยมีปัญหาอะไรทั้งสิ้นอย่างที่หลายคนไปวิพากษ์วิจารณ์”

นายกฯ บอกด้วยว่านายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อาจจะเดินทางมาเยือนไทยเร็ว ๆ นี้ ซึ่งล่าสุด กต. ยืนยันแล้วว่านายบลิงเคนจะมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.

“เป็นการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ในอาเซียน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

มหาสารคาม

มหาสารคาม

พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การค้าวัสดุก่อสร้าง การติดตั้งไฟฟ้าสายหลัก การทำเกลือให้บริสุทธิ์ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำแข็ง การผลิตรองเท้า การผลิตเกลือดิบ การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ความงาม/สุขภาพ ตรวจหวย ธุรกิจ บริการติดตั้งประปา บริษัท มหาสารคาม มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.มหาสารคาม เขต 1 สพป.มหาสารคาม เขต 2 สพป.มหาสารคาม เขต 3 สพม.เขต 26 สมาคม หน่วยงานราชการ อบต. เครื่องดื่ม เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.