“คนกรุง” แห่โหวต “ชัชชาติ” เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ด้าน “ปชป.” จ่อเคาะชื่อผู้สมัครลงชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” 13 ธ.ค.นี้ “บิ๊กป้อม”อุบพปชร.ส่ง “ผู้ว่าฯหมูป่า”ลงชิงเก้าอี้ ส่วน “พท.”วอน “อัศวิน” ทิ้งเก้า เปิดทางจัดเลือกตั้งใหม่ จี้รบ.ไทยยอมรับ-ทบทวน และปรับปรุงท่าทีเรื่อง “ประชาธิปไตย” ขออย่าทำประเทศเสียหายไปมากกว่านี้
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.64 นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม.” ครั้งที่ 8 โดยพบว่า บุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อันดับ 1 คือ ร้อยละ 34.37 ระบุ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์อันดับ 2 ร้อยละ 17.07 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองอันดับ 3 ร้อยละ 11.68 ระบุ ยังไม่ตัดสินใจ
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัว นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือส.ก. พร้อมยืนยันว่า พรรคมีความพร้อมในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยในการประชุมพรรควันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะสรุปตัวบุคคล
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกระแสข่าวที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.ปทุมธานี จะมาลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ
ส่วน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากเลือกตั้งนายกฯ อบต. ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. มาจากคำสั่งมาตรา 44 และจนถึงขณะนี้อยู่ในตำแหน่งมาเกิน 5 ปีแล้ว แต่นักข่าวได้ไปสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ว่าเมื่อใดจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะกระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเข้าครม. มานานแล้ว แต่นายกฯกลับตอบรอให้บ้านเมืองสงบก่อน จึงขอถามว่า ขณะนี้บ้านเมืองไม่สงบหรืออย่างไร จึงไม่ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้พล.ต.อ.อัศวินลาออก เพื่อให้ตำแหน่งนี้ว่าง แล้วเกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ใหม่เพราะอยู่มาเกิน 5 ปีแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่
ส่วน นายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหรัฐอเมริกาออกมาย้ำสาเหตุที่ไม่เชิญไทยเข้าประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย โดยย้ำถึงการเชิญเครือข่ายประชาธิปไตย ว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทยหลังการรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา มาจนถึงการเข้ามาบริหารประเทศ เราต้องยอมรับว่าการใช้รัฐธรรมนูญ และเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ และเมื่อมีประชาชนออกมาเรียกร้อง หรือแสดงความคิดเห็นไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ท่าทีของรัฐบาลไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คือไม่เปิดกว้าง และไม่รับฟัง ท่าทีของเราทำผิดมาโดยมาตลอด เราต้องทบทวน และเปลี่ยนแปลงท่าที รวมถึงปฏิบัติตัวเสียใหม่ วันนี้ประเทศไทยต้องยอมรับว่า ท่าทีของเราต่อประชาคมโลกไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ และด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไรก็ยอมรับไม่ได้ว่า นี่คือประชาธิปไตย
“การที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ออกมาบอกว่าไม่เชิญ ก็ไม่เห็นเป็นไรนั้น ผมว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ ทั้งที่ความจริงแล้วเราต้องยอมรับ และปรับท่าทีของเรา ยิ่งการที่เราส่งคนระดับรองนายกฯ ไปเยือนพม่านี่ก็เป็นหนึ่งท่าทีที่เขาจับตา ดังนั้นการแสดงออกใดๆของรัฐบาลสำคัญในสายตาประชาคมโลก ดังนั้นขออย่าทำให้ประเทศไทยเสียหายไปมากกว่านี้ในเรื่องประชาธิปไตย”